บทความต่อมาของวันนี้ที่อยากนำเสนอครับ "กูรูหุ้นพันล้าน"
ตอนที่ 1.ทางของเสือ
"...เงินนี่มันแปลก เงิน 1 ล้านบาท คุณจะเพิ่มให้เป็น 2 ล้านบาท ช่วงนี้จะยากมาก แต่จาก 2 เพิ่มเป็น 4 เริ่มง่าย จาก 4 เพิ่มเป็น 8 ยิ่งง่ายกว่า...เรื่องนี้เรื่องจริง" การเดินทาง...ย่อมมีปลายทางฉันใด ชีวิตก็ย่อมมีจุดหมายฉันนั้น ตลอด 20 ปีของการเดินทาง บนเส้นทางที่เรียกว่า "ตลาดหลักทรัพย์" ที่เต็มไปด้วย "หลุมพราง" ของโอกาส ...กว่าจะก้าวมาเป็น "เซียนหุ้นพันล้าน" ชีวิตที่มาไกลเกินฝัน ระหว่างการเดินทางต้องผ่านพบอุปสรรคมานานัปการ "วิชัย วชิรพงศ์" หรือที่รู้จักกันในวงการว่า "เสี่ยยักษ์" รู้ดีว่าระยะทางพิสูจน์ม้า...กาลเวลาพิสูจน์ฝีมือ (คน) ก็จริง แต่ "ม้าแก่" ก็ใช่ว่าจะไม่มีวันโรยรา แม้จะเชื่อว่าอยู่ในสนามรบนี้ต้องอาศัย "ฝีมือ" 70% "โชคชะตา" อีก 30% แต่ใครบ้างจะรู้ว่า ฤดูใบไม้ผลิแห่งโชคชะตา จะผลิบานได้ตลอดไป
"ถ้าคุณมี (เงิน) 2,000-3,000 ล้านบาท แล้วคุณจะเลิกมั้ย!" เสียงสะท้อนนี้ก้องขึ้นเรื่อยๆ ในความคิดของ "นายพราน" ที่มีสัญชาตญาณของนักล่ามาอย่างโชกโชน ด้วยเงินทุนเพียง 2 ล้านบาท วันนี้ "เสี่ยยักษ์" ประสบความสำเร็จในเส้นทางของ "เซียนหุ้นพันล้าน" ด้วยความภาคภูมิ เพื่อนๆรายใหญ่ต่างยกนิ้วให้ว่าเสี่ยยักษ์ผู้นี้นี่แหละ "เสือ" ในวงการหุ้นตัวจริง
หนึ่งในกลุ่มเพื่อนที่รู้จักมักคุ้นกันดี "เสี่ยปู่" สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุลหรือแม้แต่ "หมอยง" ทพ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม ก็เติบโตมาในยุคไล่เลี่ยกัน ในห้องขนาดกะทัดรัด ณ ห้องวีไอพี บนชั้น 21 ของตึกอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ทำการโบรกเกอร์ยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ เซียนหุ้นรายนี้กวาดสายตาสำรวจความผิดปกติบนหน้าจอคอมพิวเตอร์กว่า 10 จอที่อยู่เบื้องหน้า โดยมีหลานชาย พ.ท.นพ.วิเศษ วชิรพงศ์ แพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 27 เป็นขุนศึกคู่กาย ภายในห้องวีไอพีนอกจากจะเพียบพร้อมไปด้วย "ข้อมูล" ที่สามารถเคาะดูได้ตลอดเวลาแล้ว ทั้ง 2 ยังมีโทรศัพท์พื้นฐานข้างกายอีกคนละ 3 เครื่อง มีเสียงดังกรี๊ง...กร้าง มาจาก "มาร์เก็ตติ้ง" คู่ใจเป็นระยะๆ... "มันสู้แล้วโว้ย!" ต้นเสียงมาจากเสี่ยยักษ์พูดกับหลานชาย หลังจากที่ทั้งคู่พยายามแหย่รังแตน ขอดูหน้าไพ่อาคันตุกะฝั่งตรงข้าม... ไฟกะพริบแวบๆสี "เขียว-แดง" บนหน้าจอ "2 อา-หลาน" จ้องตาเขม็ง พร้อมจะดวลปืนกับใครก็ตามที่เข้ามาเล่นหุ้น BLAND-W1 ของ "เสี่ยช้าง...อนันต์ กาญจนพาสน์" ขณะนั้นเป็นหุ้นที่เสี่ยยักษ์กำลังหมายตาและเข้าไปเก็บมาแล้วล็อตใหญ่ "หุ้นตัวนี้มันเสือ (คุม)" เสี่ยยักษ์พูดขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งเข้าไปเก็บหุ้นปตท. (PTT) 2 แสนหุ้นกว่า 40 ล้านบาทมาหยกๆ "แค่เล่นเก็งกำไรสนุกๆ...ไม่ได้หวังรวยอะไร" เสี่ยยักษ์ บ่ายหน้ามาบอก
"เล่นให้รวยต้องหาหุ้นในดวงใจให้เจอ" ที่จริงแล้ว "นายพราน" และ "ผู้ช่วย" กำลังแสวงหากำไรจากกฎ High Risk...High Return แสวงหาโอกาสจากความแปรปรวนของประสิทธิภาพตลาด แต่กระนั้นวิชัย วชิรพงศ์ก็ตระหนักว่าการตัดสินใจอะไรบ่อยๆย่อมพลาดท่าให้กับ "ความเสี่ยง" ไม่วันใดก็วันหนึ่ง "ผมอยากจะเลิกจริงๆนะ ไม่ใช่แบบว่าเราสร้างภาพจะเลิก เพราะคนเล่นหุ้นคนหนึ่งเล่นหุ้นมาจากเงินน้อยแล้วประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เคยมีหุ้นระดับ 2-3 พันล้านบาท อาจจะกู้เล่นส่วนหนึ่งเงินสดส่วนหนึ่ง เป็นคุณจะเลิกมั้ย ไม่เลิกก็เล่นน้อยลง เพราะที่ผ่านมาเป็นกำไรของเราทั้งหมดแล้ว" เสี่ยยักษ์ บอกเหตุผลที่อยากจะเลิกเล่นหุ้น "...มันไม่ใช่กำไรแค่ร้อยเท่า คุณมีเงิน "พันล้าน" โตมาจากเงิน "2 ล้าน" มันโตเป็นพันเท่านะ" แม้ฟืนท่อนเล็กๆยังก่อเป็นเพลิงกองโตได้ฉันใด วัวแม้จะตัวใหญ่ แต่ก็ทับเห็บตัวเล็กๆไม่ตาย เสี่ยยักษ์ให้กำลังใจ...อย่าคิดว่าคุณเสียเปรียบรายใหญ่ ทางรวยของคุณ "มี"
ใครจะเชื่อว่าจากความฝันเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชีวิตนี้ขอมีเงินแค่ 3 แสนบาท มีรถยนต์โตโยต้าโคโรลล่าเก่าๆสักคัน "แค่นี้ชีวิตคงมีความสุขที่สุด..." เขาเล่าความฝันในวัยหนุ่ม วันที่เสี่ยยักษ์มีเงิน 100 ล้านบาทเขาให้รางวัลชีวิตด้วยรถยนต์ Mercedes-Benz ราคาคันละกว่า 4 ล้านบาท วันที่มีเงิน "พันล้าน" เขาตอบแทนความสำเร็จด้วยรถยนต์ "เฟอร์รารี่" สีแดงสดราคา 22 ล้านบาท ปัจจุบันวิชัยเตรียมหันเหชีวิตนักเล่นหุ้นไปเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีแผนจะพัฒนาที่ดิน 56 ไร่ ริมชาดหาดระยอง "สุดท้ายของชีวิตมันคืออะไร...คนเราสุดท้ายคืออะไร...วันหนึ่งคนเรากินเต็มที่ก็แค่วันละร้อยกว่าบาท แต่มาถึงตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเงินแล้ว มันอยากเล่นเกมให้ชนะ" เขาบอก ก่อนที่จะโชว์รูปสมัยเด็กๆย้อนกลับไปเกือบ 50 ปีที่แล้ว ครั้งที่ยืนถ่ายกับรั้วบ้านสังกะสี ก่อนจะสื่อความว่า "...คนบ้านนอกที่มีฐานะธรรมดาๆ ยังสามารถเล่นหุ้นรวยเป็นพันล้านได้ ผมเชื่อว่าพวกคุณทุกคน ก็มีโอกาสรวยระดับร้อยล้านได้ทุกคน...อย่าเพิ่งท้อ" "เงินนี่มันแปลก เงิน 1 ล้านบาท คุณจะเพิ่มให้เป็น 2 ล้านบาท ช่วงนี้จะยากมาก แต่จาก 2 เพิ่มเป็น 4 เริ่มง่าย จาก 4 เพิ่มเป็น 8 ยิ่งง่ายกว่า จริงๆนะครับ นี่เรื่องจริง" เซียนหุ้นพันล้าน เอื้อมมือไปหยิบ "บัญชีกำไรขาดทุน" ในลิ้นชักขึ้นมาโชว์ พร้อมเล่าถึงความสำเร็จครั้งสำคัญของชีวิต ให้ฟังอีกว่า... ช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ปี 2548 ผมได้กำไรมา 19 ล้านบาท ถึงสิ้นเดือนมีนาคม (มกราคม - มีนาคม ปี 2548) กำไรโตขึ้นมาเป็น 120 ล้านบาท พอสิ้นเดือนมิถุนายน (มกราคม - มิถุนายน ปี 2548) กำไร 366 ล้านบาท "ช่วงนั้นหุ้นปตท.มันขึ้นเยอะ" เขาเฉลย เมื่อถามว่าตั้งแต่เสี่ยยักษ์เล่นหุ้นมา 20 ปี ได้กำไรหุ้นตัวไหนมากที่สุด เขาตอบอย่างภาคภูมิใจว่า "กำไรหุ้น ปตท. (PTT) ตัวเดียวประมาณ 700 ล้านบาท"
ตอนที่ 2 ปูมหลัง "เซียนหุ้นอยุธยา"
กว่าจะเดินมาถึงจุดที่เป็น "เซียนหุ้นพันล้าน" วิชัย วชิรพงศ์ ต้องผ่านการคิดทบทวนตัวเองมานับครั้งไม่ถ้วน สัญชาตญาณของความเป็น "เสือ" อาจติดตัวมาแต่กำเนิด แต่สัญชาตญาณในการ "ล่า" ต้องหมั่นฝึกฝนสร้างประสบการณ์ ....ถ้าในโลกนี้ ใครได้อะไรมาง่ายๆ ก็ยากที่จะรักษาให้มันอยู่กับเราได้อย่างยั่งยืน
ต้นทางชีวิตของ วิชัย วชิรพงศ์ เขาเกิดเมื่อปี 2498 ปัจจุบันมีอายุ 52 ปี พื้นเพเดิมเป็นคนตำบลบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาของวิชัยเป็นเจ้าของโรงงานทำเส้นหมี่ ยี่ห้อสิงห์ทอง เริ่มก่อตั้งโรงงานประมาณ ปี 2500 วิชัยจึงคลุกคลีในโรงงานทำเส้นหมี่มาตั้งแต่เด็ก เขาเชื่อมั่นมาตลอดว่า ต้นทางของความสำเร็จ มีจุดสตาร์ทมาจาก "ความคิด"...ถ้าคุณ "คิดเป็น" เลือกเส้นทางเดินให้ถูก ชีวิตก็ประสบความสำเร็จได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
วิชัยนึกถึงความหลังในวัยหนุ่ม แล้วถ่ายทอดให้ฟังว่า...ผมเรียนจบคณะเกษตรศาสตร์ สาขาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สมัยที่เรียนอยู่มช. มันมีถนนหน้า และหลังมหาวิทยาลัย ความที่เราไม่มีประสบการณ์ จึงไม่รู้จักแสวงหาโอกาส ...สมัยนั้นนักศึกษาทุกคนที่จะกลับหอพัก ต้องออกทางถนนด้านหน้ามหาวิทยาลัย ถ้าใครกลับด้านหลัง อาจจะโดนจี้ปล้นได้ สมัยก่อนแถวนั้นมันเปลี่ยว ที่ดินด้านหลังมช. จึงมีราคาถูกมาก แต่ทุกวันนี้ถนนด้านหลังมช. กลายเป็นถนนสายหลัก วิชัย บอกว่า เมื่อมองย้อนกลับไป ถ้าตอนนั้นเรารู้จัก "คิด" สะสมที่ดินเก็บเอาไว้ 3-5 ไร่ ป่านนี้ก็รวยไปตั้งนานแล้ว
"สมัยก่อนผมไม่มีมุมคิด ยังไม่มีประสบการณ์ ตอนนั้นไม่ใช่ปัญหาเรื่องเงิน สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ราคาที่ดินด้านหลัง มช. ราคาถูกมาก ไร่หนึ่งไม่กี่ตังค์ ประเด็น คือ เราคิดไม่เป็น"
การนั่งทบทวนอดีต ทำให้วิชัยได้แง่คิดว่า คนเราต้องเรียนผิดเรียนถูกกว่าจะผ่านจุดที่ "คิดเป็น" จงอย่ากลัวที่จะต้องจ่ายค่าวิชาของความผิดพลาด ถ้าคุณไม่เคยล้ม..ย่อมเดินไม่เป็น คนที่ "คิดเป็น" ก่อนคนอื่น คนนั้นก็มีโอกาส "รวย" ก่อน! หลักการเดียวกันกับการ "เล่นหุ้น"...จงวิ่งไปในที่ที่ "แนวโน้ม" กำลังจะไป
"อย่างที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ที่นักศึกษาต้องไปฝึกงาน สมัยก่อนต้องขับรถผ่านคลองชลประทาน คนแถวนั้นยากจนมาก พื้นที่ทุรกันดาร ที่ดินแถวนั้นไร่หนึ่งเต็มที่ก็ไม่เกิน 3,000 บาท" ..ฉันใดก็ฉันนั้น ตอนผมเรียนจบใหม่ๆ ปี 2520 เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมคิดตั้งแต่ตอนนั้นว่าชีวิตนี้ขอมีเงินเก็บแค่ 300,000 บาทก็พอ สมัยก่อนอยากมีเงิน 300,000 บาท อยากมีรถเก๋งโตโยต้าโคโรล่าเก่าๆสักคันหนึ่ง ผมจะมีความสุขมาก นั่นคือมุมมองของเราตอนนั้น เพราะฉะนั้นสมัยเป็นนักศึกษาจึงใช้ชีวิตหมดไปวันๆ ข้อดีของมันคือ ทำให้ผมไม่เสียกำลังใจ เพราะไม่เคยฝันไกล" "...แต่ข้อเสียของมัน ชีวิตเราก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน" สมัยนั้นมีการจองตัวนักศึกษา พอเรียนจบสัตวบาลมา รุ่นพี่ที่ทำงานอยู่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ก็มาชวนให้ไปทำงานที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ จึงต้องย้ายไปอยู่ที่จังหวัดระยอง ได้เงินเดือนครั้งแรกในชีวิต 2,700 บาท หลังจากทำงานผ่านไปได้ 18 วัน มุมมองของวิชัยก็เริ่มเปลี่ยน จากคนที่ใช้ชีวิตไปวันๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าถ้าขืนทำงานอยู่อย่างนี้ต่อไป ชีวิตนี้คงไม่มีวันก้าวหน้า "ผมคิดว่า..โอ้โห้! การทำอาชีพเกษตรกรนี่มันยากมาก ดูแลไก่ต้องทำงานกลางคืน เพราะกลางวันอากาศร้อน เดี๋ยวไก่เครียด กว่าจะได้นอนก็เที่ยงคืน แล้วก็ต้องรีบตื่นตั้งแต่เช้ามืด ต้องตื่นไปเปิดไฟให้ไก่ เพราะการไข่ของไก่ขึ้นอยู่กับความยาวของแสงไฟ ...ตี 5 ก็ต้องลุกขึ้นไปเปิดไฟ ให้ไก่ตื่นขึ้นมากินอาหาร เพื่อจะให้มันออกไข่ตามกำหนด" วันที่ 18 ของการทำงาน วิชัยก็คิดได้ว่า ถ้าเรามีความพยายามมากขนาดนี้นะ ไม่ต้องมาทำงานกินเงินเดือน 2,700 บาทหรอก ต่อให้ไปขายราดหน้าข้างถนน "กูก็รวยได้" จากนั้นเขาจึงไปบอกรุ่นพี่ว่า...พี่ครับ! ผมขอลาออก ขอบคุณครับที่รับผมเข้าทำงาน รุ่นพี่ทักท้วงว่ารออีกแค่ 12 วัน เงินเดือนออกแล้วค่อยไป ด้วยอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว วิชัย ยืนกรานที่จะลาออกจากงานทันที
เส้นทางอนาคตของเสี่ยยักษ์ในวัยหนุ่ม แทบจะมองไม่เห็นหนทางแห่งความร่ำรวย ภายหลังลาออกจากการเป็นลูกจ้างเครือซีพีจึงบ่ายหน้ากลับบ้านเกิดที่จังหวัดอยุธยา ไปช่วยงานในโรงงานทำเส้นหมี่ของพ่อ สมัยก่อนพ่อของวิชัยจะทำโรงงานแบบคนโบราณ ซึ่งชายหนุ่มมองว่าหนทางแห่งความเติบโตแทบไม่มี แถมการไปของวิชัย เขายังถูกมองว่าเป็น "ส่วนเกิน" ของโรงงาน พวกพี่ๆต้องแบ่งงานให้ทำ และถูกพวกคนงานดูถูกดูแคลน กล่าวกันว่าไอ้ลูกเถ้าแก่คนนี้เป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำอะไรไม่เป็นโล้เป็นพาย ...แม้แต่พี่ตัวยังมองว่า มึงไปเรียนหนังสือมาทำไม สุดท้ายก็ต้องมาทำงานที่บ้าน "แต่จริงๆคือ..เขาคิดผิด" วิชัยคิดในใจ
ความน้อยเนื้อต่ำใจถูกสะสมเพิ่มพูน เขาเล่าว่า ครอบครัววชิรพงศ์มีตัวเขาเป็นคนสุดท้อง พี่ชายแท้ๆเป็นหมอ ถัดมาอีกคนเป็นวิศวกร แต่พี่น้องก่อนหน้านั้นไม่ได้เรียนหนังสือ พี่ชายที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่เข้าใจว่าการเรียนหนังสือทำให้คนเรา "คิดเป็นระบบ" ทำให้เราวิเคราะห์เป็น มีเหตุมีผล อุปสรรคเรื่องคนจึงมีเข้ามาเนืองๆ ระหว่างที่ช่วยงานในโรงงานอยู่นั้น วิชัยจึงยึดอาชีพเลี้ยงหมูของตัวเองเป็นรายได้หลัก โดยอาศัยเศษอาหารเหลือในโรงงานมาทุ่นต้นทุน "ตอนนั้นผมเลี้ยงหมูเป็นร้อยตัวนะ แต่จุดเปลี่ยนของชีวิตก็มาอีก ตอนไปเก็บเงินจากเขียงหมู เงินแค่ 20,000 บาท เช้าเจอสามีก็บอกให้ไปเก็บกับภรรยา พอเจอหน้าภรรยาก็บอกให้ไปเก็บกับสามี วงการนี้มันเอารัดเอาเปรียบกันมาก พวกโรงฆ่าสัตว์พวกนี้เจ้าเล่ห์ ผมก็เลยประกาศว่า "เลิก" อาชีพนี้ไม่เอาอีกแล้ว"
เวลาทั้งหมดจึงทุ่มเทมาช่วยงานในโรงงาน ช่วงนั้นการทำให้เส้นหมี่แห้งจะใช้วิธีโบราณคือ การตากแดด วิชัย เข้าไปช่วยพัฒนาจากตากแดดเปลี่ยนมาเป็นการอบแห้ง โดยนำเครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามาใช้ เขาได้สรุปบทเรียนของชีวิตไว้ว่า...จุดเปลี่ยนของชีวิตคนเรา อยากให้ทุกคนได้ลิ้มลองรสชาติของความสำเร็จสักครั้ง ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าคุณชิมความสำเร็จได้อย่างหนึ่งแล้ว อะไรก็ตามที่เป็นอุปสรรคหลังจากนั้น จะดูง่ายไปหมด "...นี่คือเรื่องจริงที่ผมเจอมา การเล่นหุ้นก็ไม่แตกต่างกัน ถ้าคุณชนะครั้งใหญ่ได้สักครั้ง ชัยชนะต่อๆมาจะเป็นของคุณ" เขาเชื่อเช่นนั้น
ตอนที่ 3 ปูมหลัง "เซียนหุ้นอยุธยา"
ไร้ซึ่งเสาเข็มฝังลึกลงใต้ดิน ไฉนเลยจะมีตึกสูงใหญ่ระฟ้า...ความสำเร็จของคนล้วนมีที่มา ระหว่างที่ช่วยงานพ่อในโรงงานทำเส้นหมี่ วิชัย วชิรพงศ์ ได้เข้าไปปรับเปลี่ยนระบบงานหลายอย่าง ตั้งแต่ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จนหัวหน้าคนงานบางคนหัวเราะเยาะหาว่าลูกเถ้าแก่คนนี้..เป็นคนไม่เอาไหน การขาดความยำเกรงในหมู่คนงาน จะสั่งงานอะไรก็ติดขัดไม่ราบรื่น วิชัยต้องพิสูจน์บทเรียนบทแรกของการบริหารคนในครั้งนั้น "...ผมต้องกลั้นใจไล่หัวหน้าคนงานคนนั้นออก คำแรกที่พูด..ถ้าหากมีคุณแล้วผมไม่สบายใจ ไม่มีคุณเสียดีกว่า ทั้งๆที่ตอนนั้นยังไม่มีใครช่วย ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะว่า การเป็นผู้นำเราต้องกล้าตัดสินใจ ต้องทำให้คนอื่นยำเกรง พอไล่หัวหน้าคนงานออกไปแล้ว การบริหารงานก็เริ่มคล่องขึ้น" ถ้าเปรียบกับการเล่นหุ้น การไล่หัวหน้าคนงานที่เป็น "ตัวปัญหา" ออกไป ก็เหมือนกับการ "Cut Loss" หุ้นที่กำลังจะกลายเป็น "เนื้อร้าย" ออกจากพอร์ต ก่อนที่เนื้อร้ายชิ้นนั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ มาบั่นทอนจิตใจเราในภายหลัง ในไม่ช้า วิชัยก็รู้ซึ้งในมุมคิดใหม่ ความรู้..เปรียบดั่งสายแร่ทองคำในเหมืองที่ยังไม่ถูกขุดขึ้นมาใช้ ประสบการณ์..คือการถลุงแร่ทองคำ ให้กลายเป็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ แท้ที่จริง "ความรู้" ต้องรอวันถูกขุดขึ้นมาใช้ร่วมกับ "ประสบการณ์" อย่างเช่นเราเรียนหนังสือมา เรารู้ว่าเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาอากาศจะขยายตัว 1,760 เท่า นี่มันเป็นวิชากลศาสตร์สายวิทย์ทั่วไป เครื่องอบแห้งจากญี่ปุ่น จะใช้อากาศมาหมุนเวียนภายในทำให้เส้นหมี่แห้ง การประหยัดพลังงาน เราก็ต้องลดอุณหภูมิภายในตู้อบ มอเตอร์ความเร็วรอบก็ลดลง พออากาศขยายตัวเป็นหมื่นๆเท่า เส้นหมี่ก็แห้งเร็วขึ้น นี่คือ..ความรู้ที่เราไม่เคยรู้ว่าจะได้นำมาใช้วันนี้หรอก
วิชัยเปรียบการเล่นหุ้นว่า เราต้องคิดให้เป็นหลักวิทยาศาสตร์ การ "เบ่ง" ของวอลุ่ม จะต้องสอดคล้องกับ "การขึ้น" ของราคาหุ้น นักลงทุนที่ก้าวขึ้นมาเป็นรายใหญ่ ต้องเข้าใจหลักการข้อนี้ หุ้นจะเป็นขาขึ้น "ราคา" และ "ปริมาณ" จะต้องเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากช่วยงานที่บ้านมา 10 ปีเต็ม ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ปีใหม่มีวันหยุด 4 วัน ก็เป็นวันซ่อมเครื่องจักรประจำปี "ผมช่วยที่บ้าน 10 ปี ไม่เคยมีเงินเดือน หยิบเงินกงสีใช้ได้ แต่ไม่มีเงินเก็บ อยากจะใช้อะไรก็ใช้ไป ไม่เคยมีสมุดเงินฝากธนาคารเป็นของตัวเอง" จุดหักเหของวิชัย เกิดขึ้นเมื่อเขาจะแต่งงานกับว่าที่ภรรยา เป็นทันตแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นหลานสาวของศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี วิชัยเล่าว่า ในวันแต่งงาน นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้สัมผัส "เงินล้าน" เงินสินสอดที่แม่ยกให้เอาไว้ทำทุนจำนวน 1 ล้านบาท "ตอนแต่งงานกัน เราสองคนมีสินสมรสรวมกัน 2.6-2.7 ล้านบาท ผมจำได้ว่านับมันอยู่นั่นแหละ" แม้เขาจะมองว่าเงินก้อนนี้ไม่มาก แต่ก็ไม่เคยมีมาก่อน หลังจากแต่งงานกัน ภรรยาช้างเท้าหลังต้องเสียสละ ย้ายงานจากโรงพยาบาลราชวิถี มาช่วยราชการอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอเสนา แต่ไปประจำอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ ประจำตำบล ตำแหน่งอะไรก็ไม่มี วิชัยจึงยกย่องในความเสียสละของภรรยาคนนี้อย่างมาก แต่ชีวิตก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ทั้ง 2 คนคาดหวัง ดั่งภาษิตจีนที่กล่าวไว้ว่า "หวานมาจากขม...สุขมาจากทุกข์" ชีวิตที่ยังไม่ได้ลิ้มรสความล้มเหลว จะรู้จักความงดงามของความสำเร็จได้อย่างไร... "ตอนนั้นเรามีโครงการกันว่า จะเปิดคลินิกทำฟันในอำเภอเสนา ตกแต่งร้านไป 2-3 แสนบาท พอทำคลินิกเสร็จ ช่วงนั้นลูกสาวอายุ 9 เดือน ยังไม่ได้ทันรักษาคนไข้สักคน ไฟก็ไหม้ตลาดอำเภอเสนา บ้านผมเป็นตึกแถว 2 ห้องอยู่ในตลาด..หมดเกลี้ยง!!!"
เขาเล่าว่า เอาออกมาได้แค่รถมอเตอร์ไซค์ รีบคว้าตัวลูก แล้วก็เอาเสื้อผ้าของใช้ของลูกสาวมาได้เพียงลิ้นชักเดียว แต่ของเรา 2 คน ไม่ได้เอาอะไรติดตัวออกมา ห่วงแต่ของลูก วิชัยสะท้อนภาพภายใต้กระจกเงาชีวิตที่มัวหมองในขณะนั้นว่า ตอนนั้นในใจก็คิดว่า..โห! ทำไมชีวิต(กู)มันถึงบัดซบขนาดนี้ เรากำลังจะดีขึ้นอยู่แล้วเชียว "โชคชะตาทำไมเล่นกับพวกเราแรงขนาดนี้..." เขารำพึง ช่วงนั้นไม่รู้จะไปนอนกันที่ไหน วิชัยต้องไปขออาศัยอยู่กับบ้านพี่ชาย พ่อ-แม่-ลูก ขึ้นไปอยู่ชั้น 4 ชั้นบนสุดของตึกแถว ไม่มีแอร์ มีแต่พัดลมติดเพดาน ส่วนที่นอนก็ปูเอากับพื้นไม่มีเตียง มีผ้าม่านสีเขียวบางๆ ห้องนอนค่อนข้างคับแคบ ทั้ง 3 ชีวิตต้องทนอยู่ห้องนั้นประมาณ 1 ปี
"เรานอนมองพัดลมบนเพดานกันทุกวัน..ทนไม่ไหว ผมไม่เป็นไร สงสารแต่ภรรยากับลูก เลยให้เขากับลูกย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพ มาอยู่กับพ่อแม่เขา แล้วให้ย้ายกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลราชวิถี ผมจะมาหาเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์" วิชัยให้สัญญากับภรรยาว่า เดี๋ยวจะตามไปอยู่ด้วย ทั้งๆที่ก็ไม่รู้ว่าจะตามไปยังไง จะไปทำอาชีพอะไร? ยังไม่รู้
"ชีวิตคนเราขอให้ชนะอะไรสักครั้งหนึ่ง เราจะไม่กลัว แล้วชีวิตเราจะชนะอยู่เรื่อยๆ" เขาย้ำ จังหวะนั้นรุ่นพี่รุ่นน้องที่ทำโรงงานเส้นหมี่ด้วยกัน อยากจะออกไปขาย "ฟู้ดเคมิคอล" เป็นพวกเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร วิชัยสนใจจึงเอาทุนก้อนหนึ่งมาเปิดโรงงานที่กรุงเทพฯ ใจหนึ่งก็คิดว่าดีเหมือนกันจะได้อยู่ใกล้ลูกเมีย ขณะนั้นมีลูกน้องจบ Food Science (เทคโนโลยีทางอาหาร) สองคน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กับบริษัท ช่วงแรกๆธุรกิจก็ไปได้ดี แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องเซ้งกิจการให้กับลูกน้อง พวกสินค้าเคมีตัวเล็กๆ ที่หิ้วไปขายได้กำไร 20-30% ลูกน้องจะรับออเดอร์เอาไว้เอง แล้วส่งออเดอร์สินค้าตัวที่กำไรน้อยต้องส่งเป็นเบราท์ใหญ่ๆ อย่างพวกแป้ง หรือวัตถุดิบที่ต้องใช้รถบรรทุกไปส่ง กำไรประมาณ 8% ก็ส่งออเดอร์ให้บริษัท ที่สุดเถ้าแก่วิชัยก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์ครั้งใหม่ว่า...คุณจะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเจ้าของทำเองไม่เป็น แล้วต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ สุดท้ายเราก็ไปไม่รอด คิดอยู่หลายตลบ ก่อนจะได้รับคำตอบว่า "ถอยดีกว่าเรา"
ตอนที่ 4 รู้ไม่จริง
ถ้าเราเลือกหุ้นพี/อี ต่ำ พื้นฐานดี แต่ซื้อแล้วราคาไม่ขึ้น..มีแต่ลง แสดงว่าความคิดของเรา "ผิด" คุณต้องเปลี่ยน "อย่าดันทุรัง" โดยพื้นฐานแล้ว "ความสำเร็จ" ไม่ได้ยากไปกว่า "ความล้มเหลว" แต่ทำไม!นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น จึงมักสัมผัสรสชาติของการ "ขาดทุน" มากกว่า "กำไร" วิชัยสรุปด้วยคำพูดสั้นๆ ที่เข้าใจง่ายว่า "เพราะคุณ...รู้ไม่จริง" เขาบอกว่า นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ จะต้องค้นให้พบแนวทางของตัวเอง มีต้นแบบได้ แต่ต้องไม่ใช่การลอกเลียนแบบผู้อื่น..ต้องไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ "ลองถามตัวคุณเองว่า เป็นอย่างนั้นหรือไม่...ถ้าใช่! ต้องรีบหาแนวทางของตัวเองให้เจอ" วิชัยเล่าหนทางเข้าสู่ตลาดหุ้นครั้งแรกในชีวิต ช่วงนั้นมีญาติฝั่งภรรยาเอาหุ้นจองธนาคารมหานคร (ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว) มาให้จำนวน 1 แสนหุ้นที่ราคาไอพีโอ 6 บาท หลังจากหุ้นตัวนี้เข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ราคาวิ่งขึ้นไป 7.50 บาท ได้กำไรมาประมาณ "แสนห้า" เราก็คิดว่า เอะ! ในโลกนี้มีวิธีหาเงินง่ายๆ อย่างนี้ด้วย!!! ความสนใจเรื่องหุ้นของวิชัย เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ยังช่วยงานกงสี สมัยก่อนยังไม่มีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ระหว่างที่อ่านละครในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ ทุกๆ วันก็จะพลิกไปดูความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น ความสนใจยิ่งทวีมากขึ้น ก่อนเกิดเหตุการณ์ Black Monday (วันจันทร์ทมิฬ 19 ตุลาคม 2530) ช่วงนั้นหุ้นขึ้นมาตลอด วิชัยตัดสินใจเดินทางจากจังหวัดอยุธยา เข้ามากรุงเทพฯ หาซื้อหนังสือวิธีการเล่นหุ้นกลับไปอ่าน และสนใจศึกษาตำราการเล่นหุ้นของบุคคลที่ประสบความสำเร็จหลายต่อหลายคน เขาบอกว่า เรื่องหุ้นถือเป็นเรื่องไกลตัวในตอนนั้น ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งจากที่ไม่มีความรู้อะไรเลย พอศึกษาไประยะหนึ่ง ก็คิดว่าตัวเองรู้ดีแล้ว เก่งแล้ว เซียนหุ้นพันล้าน เล่าว่า เคล็ดลับการเล่นหุ้นให้ประสบความสำเร็จที่อ่านเจอจากตำรา บอกว่าหุ้นจะมี Cycle (วัฏจักร) หรือ "รอบ" ของมัน คุณต้องรอให้มันตกก่อนคุณค่อยเข้ามาเล่น ช่วงนั้นก็รออย่างเดียว..เชื่อว่า "เดี๋ยวมันต้องพัง" "ผมก็ทำตามตำราเป๊ะ ! พอ Black Monday หุ้นตกหนัก เราก็เข้าไปลุยเลย เลือกซื้อแต่หุ้นค่าพี/อี ต่ำๆ สมัยนั้นก็หุ้นแบงก์ทั้งนั้น ซื้อไปแล้วมันก็ไม่ขึ้น...หุ้นตัวอื่นขึ้น หุ้นเราก็ไม่ขึ้น" ประสบการณ์ขาดทุนครั้งแรก เอาเงินมาเล่น 2 ล้านกว่าบาท ขาดทุนไป 5 แสนกว่า นั่งมองคนอื่นกำไร ตัวเองขาดทุน เพราะเล่นแต่หุ้นแบงก์ค่าพี/อี ต่ำๆ สุดท้ายก็รู้ว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้ผล คนส่วนใหญ่เขาไม่คิดเหมือนเรา ในที่สุดก็ตัดสินใจ "ล้างพอร์ต" "ในใจตอนนั้นคิดว่า..ไม่ไหว เราสู้เขาไม่ได้จริงๆ เมื่อสู้ไม่ได้เราต้องถอย..อย่าฝืน" วิชัยบอกว่า ถ้าเราเลือกหุ้นพี/อี ต่ำ พื้นฐานดี แต่ซื้อแล้วราคาไม่ขึ้น..มีแต่ลง แสดงว่าความคิดของเรา "ผิด" คุณต้องเปลี่ยน "อย่าดันทุรัง"
เมื่อมีโอกาสกลับบ้านที่จังหวัดอยุธยา วิชัยก็เล่าประสบการณ์ "ขาดทุน" ให้พี่ชายฟัง พี่ชายก็บอกว่า มันต้องจ่ายค่าเทอมก่อน "คุณยังไม่มีประสบการณ์เลย คุณต้องขาดทุนก่อน ในชีวิตจริงต้องเป็นอย่างนั้น นักลงทุนมือใหม่ "ขาดทุน" ถือเป็นเรื่องปกติ" เขาสรุปข้อผิดพลาดในครั้งแรกว่า เป็นเพราะว่าเรารู้แค่ในทฤษฎี ในทางปฏิบัติจริงต้องอาศัยการพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์ การเล่นหุ้นขาดทุน แสดงว่า "คุณยังรู้ไม่จริง" หลังจากจ่ายค่าเทอมแพง วิชัยตัดสินใจที่จะกลับมาสู้ใหม่ ครั้งนี้เขาให้สัตย์ปฏิญาณไว้กับตัวเองว่า ถ้าวันหนึ่งคนอื่นทำงาน 8 ชั่วโมง เราต้องทำงาน 10 ชั่วโมง ต้องกลับมา "ชนะ" ให้ได้ ในที่สุดก็พบว่า วิธีที่จะเอาชนะคนอื่นได้ ต้องเอาชนะความมุ่งมั่นของตัวเองให้ได้เสียก่อน ในช่วงที่ยังเป็นมือใหม่ในตลาดหุ้น หลังจากไปส่งลูกสาวที่โรงเรียนตอน 7 โมงครึ่ง วิชัยต้องรีบบึ่งรถมาที่บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ไปถึงประมาณ 8 โมงเช้า ถึงก่อนมาร์เก็ตติ้งเกือบทุกเช้า เมื่อไปถึงก็จะนั่งดูข้อมูลหุ้นให้ได้มากที่สุด และจะปฏิบัติเช่นนี้ในทุกๆวัน เขาบอกว่า อยู่ในตลาดหุ้นอย่าคิดว่าเราเก่งกว่าคนอื่น ยังมีคนที่รู้มากกว่าและเก่งกว่าเราตั้งเยอะแยะ เราต้องรู้ให้ได้ว่าหุ้นที่เราจะซื้อ...เราซื้อเพราะอะไร ? เราต้องตอบให้ได้ว่า หุ้นตัวนี้มันจะขึ้นด้วยเหตุผลอะไร ? ถ้าคุณตอบได้ โอกาส "ชนะ" ก็มีมากกว่าครึ่ง "คนจะเกิด(ในตลาดหุ้น)มันต้องเกิดจากการไขว่คว้า...ไม่ใช่ฟลุ้ค!"
วิชัยเล่าต่อว่า สมัยก่อนการเล่นหุ้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีกราฟราคาหุ้นให้เคาะดูง่ายเหมือนทุกวันนี้ จะใช้วิธีการจำราคาหุ้น แล้วไปซื้อสมุดกราฟแผ่นใหญ่ๆ มาพ็อตกราฟราคาเอง หุ้นตัวไหนที่เราสนใจก็จะพ็อตกราฟมาติดไว้ข้างฝาเล็งมันทุกวัน สมัยนั้นยังไม่มีรีเสิร์ชหรือบทวิจัยแพร่หลายหาอ่านง่ายอย่างในสมัยนี้ นักลงทุนรายย่อยต้องรอให้ "มาร์เก็ตติ้ง" มาบรีฟ (สรุปข้อมูล) ให้ฟังอีกทีหนึ่ง
เมื่อ 10 กว่าปีก่อน รายย่อยจะมองมาร์เก็ตติ้งเป็นพระเจ้า เขาเล่าว่า ขำที่สุด..สมัยก่อนผมรู้จักมาร์เก็ตติ้งอยู่ไม่กี่คน ตอนนั้นเล่นหุ้นอยู่ที่ บล.ธนสยาม เล่นช่วงแรกๆขาดทุนจนเราท้อ เคยไปคุยกับมาร์เก็ตติ้งว่า...เธอมาบริหารพอร์ตให้ฉันหน่อยสิ ! ...ในสายตาตอนนั้น ผมมองมาร์เก็ตติ้งว่าต้องเล่นหุ้นเก่งมาก เพราะเรายังมองหุ้นไม่ออก ผิดกับเดี๋ยวนี้มาร์เก็ตติ้งรุ่นเก่าๆ ต้องโทรศัพท์มาถามว่าช่วงนี้เล่นหุ้นยังไง มีหุ้นอะไรเด็ดๆ อย่าลืมบอกกันด้วยนะ วิชัย วชิรพงศ์ เฉลยว่า ที่จริงความรู้เรียนทันกันได้ ประสบการณ์ก็เรียนรู้ได้ แต่อุปนิสัยกับวิธีคิดของคนเรา "เปลี่ยนไม่ง่าย" เราต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความผิดพลาดของเราเอง อย่าไปโทษคนอื่น นำกลับมาแก้ไข เชื่อผม! แล้วคุณจะเล่นหุ้นเก่งขึ้น
ตอนที่ 5 ทางลัดของมือใหม่
"สมัยที่ยังเล่นหุ้นไม่เก่ง วิธีที่ผมใช้..ผมจะลอกข้อสอบคนเก่ง แต่ระหว่างที่เราลอกข้อสอบเขา เราก็ต้องพัฒนาตัวเองตามให้ทัน" ระหว่างการฝึกฝนตนเองของ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ห้องเรียนแห่งประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขาก็คือ การเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดจาก "คนใกล้ตัว" เคล็ดลับที่วิชัยใช้เอาตัวรอดในสมัยที่ยังเป็นมือใหม่ ไม่ต่างอะไรกับการ "เข้าถ้ำเสือ" ขโมยความรู้จากคนที่เป็น "มืออาชีพ" วิชัยบอกว่า ตอนที่ยังเล่นหุ้นไม่เก่ง ยังอ่านทิศทางหุ้นไม่ออก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะใช้วิธี "ลอกข้อสอบ" จากคนที่เก่งกว่าเรา ความจริงที่ใครๆก็รู้ นักลงทุนรายใหญ่มักจะ "จมูกไว" มีช่องทางในการรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็วกว่ารายย่อย "ช่วงที่เรายังเรียนหนังสือไม่เก่ง ผมจะใช้วิธีลอกข้อสอบ คิดถึงสมัยเรียนหนังสืออยากสอบให้ผ่านก็ต้องแอบมองข้อสอบคนอื่น แต่คุณอย่าไปลอกข้อสอบคนที่เรียนไม่เก่ง เราต้องลอกข้อสอบจากคนที่เก่งกว่า" เขาแนะนำ
วิชัยถ่ายทอดประสบการณ์ต่อว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นใหม่ๆ นักเล่นหุ้นทุกคนมักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่า "เราต้องได้กำไร" ไม่มีใครคิดหรอกว่าเราจะเล่นหุ้นขาดทุน แล้วส่วนใหญ่ยังเพ้อฝันว่าจะร่ำรวยในเวลาสั้นๆ วิธีคิดจะตรงข้ามกับนักเล่นหุ้นมืออาชีพ เขาจะยึดอยู่บนพื้นฐานของตลาดหุ้น ณ ขณะนั้น เสี่ยยักษ์กล่าวว่า สมัยก่อนที่ยังเล่นหุ้นไม่เก่ง วิธีที่ใช้ ผมจะลอกข้อสอบคนเก่ง แต่ระหว่างที่เราลอกข้อสอบเขา เราก็ต้องพัฒนาตัวเองตามให้ทัน ...สมัยก่อนจะนับถือ “เฮียชัยโรจน์” มาก แกเป็นนักลงทุนธรรมดาๆ ที่เล่นหุ้นจนร่ำรวย แสดงว่าเขาเก่งจริง เท่าที่สังเกตนิสัย เฮียชัยโรจน์ จะต่างจากนักเล่นหุ้นคนอื่น พอตลาดหุ้นปิด นักเล่นหุ้นคนอื่นจะชวนกันไปกินเหล้าสังสรรค์เฮฮา แต่เฮียชัยโรจน์จะนั่งอ่านงบการเงิน..ศึกษาข้อมูลหุ้นตลอด
สมัยที่พอร์ตยังเล็กๆ วิชัยบอกว่า จะพยายามเข้าไปตีสนิทกับนักลงทุนกลุ่มนี้ เวลาจะไปรับประทานข้าวเที่ยงแถวๆ ริมคลองด้านหลังอาคารสินธร (ตลาดหลักทรัพย์เก่า) ก็จะรีบออกไปจองโต๊ะอาหารให้กลุ่มนี้นั่ง แล้วเรียกให้เฮียชัยโรจน์มานั่งด้วยกัน "ผมพยายามจะเอาใจเขาวิ่งไปซื้อโอเลี้ยงให้ อยากเป็นพวกเขา แต่เวลาจะเข้าไปคุยกับคนกลุ่มนี้ เขาก็กลัวว่าเราจะไปเกาะเขาจะตาย" สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เฮียชัยโรจน์คนนี้มีห้องวีไอพีส่วนตัว ต้องรายใหญ่จริงๆ ถึงจะมีห้องเล่นหุ้นส่วนตัว ซึ่งวิชัยได้ยินมาว่าแกรวยหุ้นเป็นพันล้าน แต่ก็ไม่รู้เรื่องอะไรเขาลึก วิชัยยกย่องว่าเฮียชัยโรจน์นี่แหละ "เสือจริง" ช่วงที่เขาป่วยเป็นโรคมะเร็ง นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ก่อนหน้าจะเสียชีวิตไม่นาน ด้วยความเป็น "เสือ" เขาห้ามทุกคนไม่ให้มาเยี่ยม ไม่ต้องไปสงสารเขา "คนอย่างนี้นี่แหละผมนับถือว่า แกเสือจริง..คนอย่างนี้หายาก"
ช่วงนั้น วิชัยจะพยายามเก็บความรู้จากเฮียชัยโรจน์ให้ได้มากที่สุด แล้วนำมาคิดต่อว่าเขามีวิธีการมองตลาดหุ้นอย่างไร เขามีเหตุผลอะไร เขาจะเลือกเล่นหุ้นแบบไหน ทำไมถึงซื้อหุ้นตัวนี้ ถึงจะได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่นับว่าสำคัญมากสำหรับนักเล่นหุ้นมือใหม่ "รับประทานข้าวเที่ยงหนึ่งวัน เขาพูดมาหนึ่งคำ ผมก็เก็บเอามาคิดตาม ฟังเขาคุยก็เริ่มรู้ว่านักลงทุนรายใหญ่เขาเล่นหุ้นกันอย่างไร มีเทคนิคอย่างไร ...ช่วงนั้นผมก็ไปเข้าคอร์สเรียนวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิเคิล พยายามหาวิธีพัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ เวลาเขาบอกว่าหุ้นตัวนั้นดี ไม่ใช่จะเชื่ออย่างเดียว ก็รีบไปศึกษาว่าหุ้นตัวนั้นดีจริงอย่างที่เขาพูดมั้ย เราต้องไปทำการบ้านต่อ ซึ่งสมัยนั้นเล่นหุ้นเก็งกำไรกันอย่างเดียว"
วิชัยเล่าต่อว่า มียุคหนึ่งที่นักลงทุนบ้าเล่นหุ้นไฟแนนซ์ (บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือ บงล.) บริษัทส่วนใหญ่มีทุนจดทะเบียนน้อย แค่ 200-300 ล้านบาท เฮียชัยโรจน์เขาอ่านงบการเงินเป็น เขาเห็นว่า บงล.เกียรตินาคิน หรือ KK (ในสมัยนั้น) เร่งขยายงานมาก เขาบอกเลยว่า หุ้น KK ยังไงก็ต้องเพิ่มทุน 1 หุ้นเดิมต่อ 4 หุ้นใหม่ เขาอ่านเกมล่วงหน้า เขารู้ก่อน แล้วบอกว่าให้ซื้อหุ้นตัวนี้เก็บไว้เลย "ผมก็ซื้อหุ้น KK เก็บไว้เลย เพิ่มทุน 1 ต่อ 4 ตอนนั้นพาร์ 100 บาท ราคาหุ้นเป็นร้อย หลังจากเพิ่มทุนไปได้ 4-5 เดือน ลูกหุ้น(วอร์แรนท์) 4 ตัว KK-W1 ถึง KK-W4 ขยับมาเท่าหุ้นแม่หมดเลย ตลาดเมื่อก่อนแฟร์มาก การเพิ่มทุนจะเพิ่มที่ราคาพาร์หมด ถ้าหุ้นตัวไหนมีข่าวเพิ่มทุน..หุ้นจะขึ้นแรง" ส่วนข้อเสียของนักลงทุนรายย่อยสมัยก่อน ข้อมูลข่าวสารยังไม่ดี อย่างเหตุการณ์ Black Monday วันจันทร์ 19 ตุลาคม 2530 ภายในวันเดียว ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 508 จุด หรือ 22.6% ตลาดหุ้นตื่นตระหนกไปทั่วโลก หลังจากนั้นหุ้นไทยก็ฝ่อลง..ๆ ตอนนั้นมีโบรกเกอร์เบอร์ 10 บล.ยูไนเต็ดเก่า เขาจะมีเทเล็กซ์ให้ดูได้เฉพาะรายใหญ่ ให้อ่านข่าวดาวโจนส์ว่าวันนี้บวกหรือลบ ช่วงนั้นดัชนีดาวโจนส์จะเป็นตัวชี้นำตลาดหุ้นไทย การเล่นหุ้นหลัง Black Monday ถ้าดาวโจนส์ขึ้นดัชนี SET จะขึ้นตาม สมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต มีแต่เทเล็กซ์ การที่เราเป็นรายย่อยไม่มีทางจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ก็ต้องใช้วิธีไปแอบถาม...เขาก็ถามว่าคุณเป็นลูกค้ารึเปล่า! เราตอบว่าไม่ใช่ เขาก็ไม่ให้ดู วิชัยบอกว่า ตัวเองถือว่าโชคดีมากที่ออกสตาร์ท เริ่มเล่นหุ้นตอนดัชนีต่ำ ตอนนั้นมันต่ำจนฟลอร์หมดแล้ว ถึงค่อยเข้าไปเล่น ถ้าไปเข้าก่อน Black Monday ก็ตายไปก่อนแล้ว ไม่รู้ว่าจะได้เกิดอย่างทุกวันนี้หรือไม่
"จุดนี้..ผมเชื่อว่ามันเป็นเพราะโชคชะตา"
ตอนที่ 6 พายเรือตามน้ำ
สมมติว่า ขณะนั้น SET กำลัง "นิยม" หุ้นกลุ่มไหน เราก็ต้องจับตามองหุ้นกลุ่มนั้น เพราะการ "ฝืนกระแส" จะทำให้เรา "เสี่ยงสูง" ที่จะขาดทุน หลักการเล่นหุ้นข้อหนึ่งที่ วิชัย วชิรพงศ์ พยายามย้ำ...ในการเล่นหุ้นให้ชนะตลาด "เราต้องพายเรือตามน้ำ อย่าพายเรือทวนน้ำ" "หลักการเล่นหุ้น..คุณอย่าพยายามฝืนภาวะตลาด" เสี่ยยักษ์ เน้นย้ำ..
จากประสบการณ์..ในตลาดหุ้น 20 ปี เซียนหุ้นพันล้านแนะนำว่า หุ้นที่เล่นแล้วได้กำไรมากกว่าขาดทุน จะเป็นหุ้นที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมของตลาดในช่วงเวลานั้นๆ ...เราต้องพยายามอ่านหลักจิตวิทยาของตลาดว่า คนอื่นเขาคิดอย่างไร..? กับหุ้นตัวที่เราจะเล่น อย่าพยายาม "คิดเอง-เออเอง" คนเดียว "สมมติว่าขณะนั้น SET กำลัง "นิยม" หุ้นกลุ่มไหน เราก็ต้องจับตามองหุ้นกลุ่มนั้น เพราะการ "ฝืนกระแส" จะทำให้เรา "เสี่ยงสูง" ที่จะขาดทุน" วิชัยบอกว่า การเล่นหุ้นฝืนทิศทางตลาด..เล่นแล้วมันเหนื่อย !!! เหมือนการขึ้นรถผิดคัน ทำไม! รถคันนี้มันถึงไม่ออกจากท่ารถสักที เรารอแล้วรออีก คันนี้ก็ไป คันนั้นก็ไปก่อน
คำเปรียบเทียบที่เซียนหุ้นรายนี้บอกให้ฟัง การเล่นหุ้นที่จริงมันเป็นแฟชั่น คุณไปเที่ยวทะเลคุณต้องใส่ขาสั้นไป ถ้าคุณใส่กางเกงยีนส์สวมรองเท้าบูต มันไม่เข้ากัน ถ้าวันไหนอากาศหนาว (สภาวะตลาดไม่ดี) จะขึ้นเหนือก็ต้องใส่เสื้อแจ๊คเก็ต ระวังตัวเอาไว้หน่อย แต่เราดันใส่ขาสั้นไปเที่ยวเหนือตอนอากาศหนาว..มีแต่เจ๊ง! "เราต้อง Follow the Trend หรือซื้อตามแนวโน้มตลาด" คำว่า "รู้จริง" จะต้องเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การที่คุณอ่านหนังสือเท่ากับรู้แค่ทฤษฎี ยังถือว่า "รู้ไม่จริง" ต้องเอา 2 อย่างนี้มาใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ประเด็นนี้ วิชัยมองว่า ประสบการณ์ชีวิตของนักเล่นหุ้นแต่ละคน บางครั้งก็อาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จ เพราะทัศนคติที่ติดตัวมาในอดีตของแต่ละคน เมื่อเข้าสู่ตลาดหุ้น มักจะมีผลต่อพฤติกรรมการลงทุน ทำให้ปฏิกิริยาในการตัดสินใจของนักลงทุนแต่ละคนแตกต่างกันคนละขั้ว ทั้งๆที่เรียนรู้มาจากตำราเล่มเดียวกัน เพราะฉะนั้น นักเล่นหุ้นที่ประสบความสำเร็จ...คุณต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามเหตุการณ์ เมื่อวานนี้..คุณอาจจะมองว่าหุ้นตัวนี้ดี วันนี้..คุณอาจจะมองหุ้นตัวเดียวกันว่ามันไม่ดีแล้วก็ได้ อย่าคิดว่าคุณเป็นคนที่ไม่มีหลักการ "ในเมื่อสถานการณ์มันเปลี่ยน...วิธีคิดก็ต้องเปลี่ยน ทำไมคน 2 คน มาจากพื้นฐานเดียวกันทุกอย่าง คนหนึ่งเล่นหุ้นได้กำไร อีกคนหนึ่งเล่นหุ้นขาดทุน ก็เพราะทัศนคติของคน 2 คนนี้แตกต่างกัน" เขาวิเคราะห์ให้ฟัง
แม้ว่าวิธีคิดของคนเรา "เปลี่ยนยาก" ก็จริง แต่เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ สำคัญที่สุดเราต้องยอมรับความผิดพลาดของตัวเราเอง..อย่าโทษใคร? เสี่ยยักษ์ย้ำว่า ประสบการณ์ที่ผิดพลาดจะเป็นบทเรียนสอนคุณเอง..ถ้าคุณยอมรับมัน และพร้อมที่จะแก้ไข คุณจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ามัวแต่นั่งโทษคนนั้นคนนี้ โทษไอ้นั่น โทษไอ้นี่ คุณจะไม่มีวันพัฒนาตัวเอง... "ผมมีประสบการณ์จริงเรื่องหนึ่งจะเล่าให้ฟัง มีลุงคนหนึ่งเล่นหุ้นอยู่โบรกเกอร์เดียวกับผม ลุงคนนี้มีอายุ 70 ปีแล้ว ในอดีตแกประสบความสำเร็จจากการดำเนินชีวิตอย่างมาก จนมีเงินมีทองหลายสิบล้านบาท ...เชื่อมั้ยว่าแกมาเล่นหุ้น เล่นไปเล่นมา เหลือพอร์ตอยู่ 3 ล้านบาท ไปเอาทุนมาเติมอีก ตอนนี้เหลือเงินอยู่ล้านกว่าบาท" "ผมเคยบอกแกว่า อาเจ็ก..เลิกเถอะ! อย่ามาเล่นอีกเลย อยู่บ้านเถอะ แกก็บอกว่า เออ!น่าไม่เป็นไร คือเขามีเงินหลายสิบล้านบาท เล่นไปเล่นมาเหลืออยู่ล้านกว่า แกก็ยังทู่ซี้เล่น นั่นคือแกไม่รู้จักพัฒนาตัวแกเอง ประวัติของลุงคนนี้แกเคยทำธุรกิจประสบความสำเร็จมาก่อน การจะตัดสินใจ Cut Loss ครั้งละ 5 ล้าน 10 ล้าน เขาจะไม่กล้า จะมีความรู้สึกว่าติดไว้ก่อนไม่เป็นไร วิธีคิดแบบนี้แสดงว่าแกไม่เป็นมืออาชีพ แต่แกมานั่งเล่นหุ้นเป็นอาชีพ วิธีการมันผิด" วิชัยบอกว่า หลักการที่ถูกต้อง เราต้องกำหนดจุด Stop Loss (จุดหยุดขาดทุน) พอขาดทุนถึงจุดนี้ก็ต้อง Cut Loss ตัดขายทิ้ง
"หุ้นเวลาเป็น "ขาลง" (Bearlish Down Trend) เราต้องตัดทิ้ง อย่าถือ และอย่าซื้อถัวเฉลี่ย" วิชัย เปรียบเทียบคนที่ติดหุ้นไว้อย่างเจ็บปวดว่า เปรียบเสมือนคนที่เคยไปกินอาหารป่า ร้านที่เขามีเนื้อตะพาบน้ำขาย "ผมจะอธิบายลักษณะของคนที่ "ติดหุ้น" อย่างเจ็บแสบที่สุดให้ฟัง" สมมติว่าร้านอาหารป่ามีตะพาบน้ำไว้ขายลูกค้าอยู่ตัวหนึ่ง วันนี้ผมไปสั่งตะพาบน้ำผัดเผ็ด 1 จาน ตะพาบน้ำตัวนี้มันใหญ่ผัดทั้งตัวไม่หมด พ่อครัวก็จะเฉือนเอาเนื้อข้างๆ แต่ตะพาบตัวนั้นมันยังไม่ตาย มันก็ทุรนทุราย เอามาผัดให้เรากินจานหนึ่ง สภาพของตะพาบน้ำตัวนั้น มันหงายท้องนอนพะงาบๆ ลืมตาอยู่แต่มันยังไม่ตาย นี่คืออาการของคน "ติดหุ้น" "นี่ผมพยายามจะเล่าให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด" วันที่ 2 ไม่มีคนมากิน ตะพาบก็พะงาบๆ อยู่อย่างนั้น เหมือนคนติดหุ้นที่รอวันตาย แต่มันไม่ตาย มันทุรนทุราย ชีวิตไม่มีความสุข เครียดไปหมด วันที่ 3 พอมีคนมาสั่งเนื้อตะพาบน้ำผัดเผ็ดอีก 1 จาน พ่อครัวคนเดิมก็เฉือนเนื้อของมันอีกข้างหนึ่ง มันก็ยังไม่ตายอีก แต่คราวนี้มันเจ็บเจียนตาย สภาพของคนติดหุ้นจะเป็นอย่างงั้นจริงๆ "ผมอยากจะให้กำลังใจว่า ตั้งแต่ผมเป็นนักลงทุนรายย่อย จนมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่อย่างทุกวันนี้ได้ ผ่านมาหมด หลายๆคนบอกว่าเป็นรายใหญ่ได้เปรียบ จริงๆไม่ใช่เลย รายย่อยต่างหากที่ได้เปรียบรายใหญ่
...คุณซื้อหุ้น 1 ครั้ง คุณได้หุ้นเต็มพอร์ต คุณขาย 1 ครั้ง คุณขายได้หมดพอร์ต ถ้าเกิดเป็นรายใหญ่ เขาจะซื้อขายกันทีเป็น "ร้อยล้านหุ้น" ผมก็เคยมีหุ้นร้อยกว่าล้านหุ้น แล้วจะขายได้ยังไงหมด อย่างกรณีของหุ้นไออาร์พีซี (IRPC) มี Bid เสนอซื้ออยู่ 3 ช่อง ขายทีเดียว 3 ช่อง ยังไม่หมดเลย เพราะรวมกัน 3 ช่อง มี Bid แค่ 10 กว่าล้านหุ้น เพราะฉะนั้นนักลงทุนรายย่อยใครว่าเสียเปรียบ...ไม่จริงเลย"
ตอนที่ 7 ไปจ่ายตลาด
การตีกอล์ฟไกลๆลงหลุม "โฮลอินวัน" นั่นคือ...โชคชะตา แต่การที่คุณตีกอล์ฟไปตกให้ห่างจากธง 2 ฟุต นั่นคือ...ฝีมือ ในสนามรบที่เรียกว่า "ตลาดหุ้น" วิชัย วชิรพงศ์ มีความเชื่อลึกๆว่า คนที่จะประสบความสำเร็จยืนอยู่บนสังเวียนนี้ได้ยาวนาน จะต้องอาศัย "ฝีมือ" 70% ...อีก 30% เป็นหน้าที่ของ "โชคชะตา" "การตีกอล์ฟไกลๆลงหลุม (โฮลอินวัน) นั่นคือ โชคชะตา นั่นคือ ฟ้าลิขิต แต่การที่คุณตีกอล์ฟไปตกให้ห่างจากธง 2 ฟุต นั่นคือ ฝีมือ"
เขาบอกว่า การเล่นหุ้นก็เหมือนกัน ทุกคนจะมีจังหวะฟ้าลิขิต...ทุกคนต้องเคยได้รับโอกาสนั้น แต่คุณจะตักตวงมันได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง วิชัย เปรียบคนเล่นหุ้นเหมือนการเปิดร้าน "โชห่วย" เราต้องหาสินค้าเข้ามาขายทำกำไร เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้ได้กำไร...เราต้องอย่าใจร้อน ต้องเลือกสินค้าที่ดีๆ ซื้อเข้าร้านใน Timing (จังหวะ) ที่เหมาะสม "ในตลาดหุ้นเขาพูดกันว่า มันมีอันตราย "ผีดุ" ถ้าช่วงไหนที่โบรกเกอร์ หรือนักวิเคราะห์ออกมาเตือนว่า มันเป็นช่วงอันตราย เราก็อย่าเพิ่งไปซื้อมัน อย่าเล่นแบบ "ทุ่มสุดตัว" คนที่มีฝีมือจะต้องรู้จัก Timing หรือเวลาไปจ่ายตลาด ใครเก่ง-ไม่เก่ง วัดกันตรงนี้" จากประสบการณ์ 20 ปี ในวงการนี้ จะซื้อหุ้นให้ได้กำไร เราต้องกล้าไปจ่ายตลาด "ตอนประมาณ ตี 5" หรือ อีก 1 ชั่วโมงฟ้าจะสว่าง...ผีไม่มี ใครซื้อหุ้นได้จังหวะนี้...ดีแน่! คุณได้เลือกของดี ได้ซื้อของสด ราคาไม่แพง ได้เลือกของก่อนคนอื่น รถไม่ติด คุณจะได้เปรียบเรื่อง "ต้นทุน" แต่คนที่จะเข้าใน "จังหวะ" นี้ได้ จะรู้ว่าตอนนี้กี่โมงต้องอาศัยเครื่องมือทาง "เทคนิเคิล" มาช่วยในการคลำหาตำแหน่งเวลาร่วมกับ "ประสบการณ์" ของแต่ละคน
"ถ้าตลาดหุ้นอยู่ในทิศทางขาลง หรือ มีภาวะอึมครึมมาแล้วพักใหญ่ ในขณะที่เครื่องมือทางเทคนิค อาทิเช่น RSI, MACD ยืนยันสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้ม เช่น การเกิด Divergence หรือ สัญญาณขัดแย้ง เราต้องเตรียมตัวซื้อหุ้น เพราะฉะนั้น ช่วงตี 5 ถึงตี 5 ครึ่ง...คุณต้องกล้าซื้อ" เซียนหุ้นพันล้าน อธิบายว่า ถ้าเราไปจ่ายตลาดตอน 8 โมงเช้า คนก็เยอะ สินค้าก็ไม่สด หุ้นมันขึ้นไปตั้งนานแล้ว คุณเพิ่งจะมาซื้อตอนคนอื่นเขากำลังจะกลับบ้าน รายใหญ่เขารอ "ออกของ" กันแล้ว สิ่งที่เซียนหุ้นรายนี้ เน้นย้ำก็คือ "จุดซื้อ" คุณอาจจะใช้ "เทคนิเคิล" ช่วย แต่การขึ้นของหุ้นรอบใหญ่ๆ หรือ Major Up Trend (ทุกครั้ง) หลักการวิเคราะห์หุ้น เราต้องใช้ปัจจัยพื้นฐานมาเลือกหุ้น
"ทุกอย่างมันต้องมาจากพื้นฐานก่อน แต่การดูพื้นฐานอย่างเดียวถ้าไม่ใช้เทคนิเคิลช่วย...เปรียบเสมือนคุณขึ้นรถเมล์ คุณจะไปสะพานตากสิน คุณกลัวร้อนคุณก็ไปนั่งรอในรถเมล์คันที่มันสตาร์ทเครื่องเอาไว้แล้ว แต่มันไม่ออกจากท่า (รถ) สักที... "...ที่มันไม่ออกเพราะจังหวะมันผิด มันเร่งเครื่องบรื้อๆแต่ไม่ออก คันข้างๆออกไปแล้วเว้ย! คันเราก็ไม่ไป นั่งรอมีแต่กระเป๋ารถขึ้นมาเขย่าตั๋ว แต่ก็ไม่ออก เราจะคิดทันทีว่า "ต้องลง" ไม่ใช่คันนี้แน่...ขึ้นผิดคัน ...พอเราลง เปลี่ยนคันไปขึ้นคันใหม่ คันเดิมของเราดันออก" วิชัย บอกว่า คนเล่นหุ้นทุกคน โดนกรณีอย่างนี้มาหมด เพราะฉะนั้นการหาจังหวะเข้าลงทุน...ต้องใช้เทคนิเคิลมาช่วย
"เวลาเลือกหุ้นให้ใช้พื้นฐาน แต่จังหวะซื้อต้องใช้เทคนิเคิล" เขาเน้นย้ำ ยิ่งตอนขายหุ้นเทคนิเคิลไม่เคยหลอกเลย ถ้าเราถอยหลังย้อนกลับไปได้ เราต้องกลับไปทบทวนตัวเองให้ดีๆ
"ผมขอแนะนำให้จดไดอารี่ทุกวัน นั่นคือการทบทวนตัวคุณเอง คุณจะได้เก็บเอาไว้อ่าน คุณเจ็บตรงไหน วันนี้คุณโดน (เทคนิเคิล) หลอกอย่างไร?" เขาอธิบายว่า ข้อผิดพลาดของนักลงทุน มักมาจากความ "ดื้อรั้น" ของตัวเอง เทคนิเคิลมันตัดลงมาตั้งนานแล้ว แต่ว่าเรายังดื้อ ยังเล่นอยู่ แสดงว่า "คุณผิดเอง ตลาดไม่ผิด" ที่ผ่านมา ชีวิตพวกเราคนเล่นหุ้นทุกคน ถ้าใครเคยผ่านมาในระยะ 10 ปีนี้ (2540-2549) วิชัยกล้าพูดได้ว่า "เฉียดรวย" ทุกคน...เฉียดรวยมาหมด
...เมื่อก่อนหุ้นธนาคารเกียรตินาคิน (KK) สมัยที่ยังเป็น บงล.เกียรตินาคิน ราคาหุ้นขึ้นมาประมาณ 40 เท่า (จาก 2 บาทขึ้นไป 80 บาท) นักลงทุนรายใหญ่เคยเล่นหุ้นตัวนี้มาแล้วทุกคน วิชัยยืนยันว่า ทุกครั้งที่ดัชนี SET ขึ้นรอบใหญ่ๆ หรือ Major Up Trend จะต้องมีหุ้น "ดาวเด่น" ของมันอยู่ เราจะต้องคลำหาให้เจอ ต้องไขว่คว้าให้เจอ ในรอบที่ผ่านมาเท่าที่จำได้มีหุ้น อะโรเมติกส์ (ATC) จาก 3 บาท ขึ้นไป 75 บาท พวกรายใหญ่ทุกคนซื้อหมดแถวๆ 3 บาทมาขายที่ 4 บาท คนที่ขายก่อน ก็แค่ "เฉียดรวย" "ตรงนี้จะวัดผลแพ้-ชนะ วัดว่าใครฝีมือจริง" วิชัยย้ำว่า นักลงทุนรายย่อยทุกคน มีสิทธิรวยได้...เชื่อผม! แต่ต้องขยัน ต้องทุ่มเท ต้องเป็นมืออาชีพจริงๆ "...คุณต้องพยายามเข้ากลุ่มให้ได้ พยายามเกาะกลุ่มจะได้รู้ว่าคนอื่นเขาคิดยังไง เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อไม่เป็นไร แต่มันทำให้เรามีมุมคิดที่หลากหลาย ไม่เชื่อมั่นในตัวเองมากจนเกินไป เพราะจะนำเราไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ง่าย"
ตอนที่ 8 ช่วงสุข และทุกข์
วิธีการเอาตัวรอดในช่วงที่ต้องเผชิญกับ "วิกฤตการณ์" ในตลาดหุ้น ทางเดียวที่จะทำให้เรา "รอด" คือ การตัดนิ้ว (Cut Loss) ยอมขาดทุนรักษาชีวิต หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นช่วงที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ยกให้เป็นช่วงชีวิตที่เลวร้ายที่สุดของนักเล่นหุ้น นับจากดัชนี SET ทำจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ที่ระดับความสูง 1,789 จุด จากนั้นก็ค่อยๆหล่นลงมาทำจุดต่ำสุด 207 จุดเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 เสี่ยยักษ์บอกว่า ใครที่รอดตายช่วงนี้มาได้ แล้วพอร์ตยังโตขึ้น ต้องยกให้ว่าเป็น "ยอดฝีมือ" ทุกคน วิชัยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่ "รอด" ช่วงนี้มาได้ แต่ก็รอดแบบเฉียดตาย และสูญเสียไม่ใช่น้อย "ช่วงนั้นพอร์ตหุ้นของผมหายไปครึ่งหนึ่ง" เขาบอก วิธีการเอาตัวรอดในช่วงที่ต้องเผชิญกับ "วิกฤตการณ์" ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เขาย้อนเล่าประสบการณ์ครั้งนั้นว่า ทางเดียวที่จะทำให้เรา "รอด" คือ การตัดนิ้ว (Cut Loss) ยอมขาดทุนรักษาชีวิต "เริ่มตัดไปทีละนิ้ว ตัดไปเรื่อยๆเหมือนนิทานตะพาบน้ำ ที่ผมเคยเล่าให้ฟังไง! มันเจ็บปวดที่สุด แต่คุณไม่มีทางเลือก..ถ้าอยากรอดคุณต้องรีบทำ" เขาสะท้อนช่วงวิกฤติครั้งนั้นให้ฟัง...จากตัดนิ้วก็ต้องตัดแขน พอดัชนีลงมาเหลือ 220 จุด ผมจำได้ว่าหายไปครึ่งตัว "พอร์ตเหลือครึ่งเดียว" อารมณ์ช่วงนั้นมันเศร้าที่สุด เมื่อถามว่าช่วงไหนที่เสี่ยยักษ์ มีความสุขมากที่สุด? "...ช่วงที่หาเงินได้ 100% ของพอร์ต โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นเล่นหุ้นใหม่ๆ ถ้าพอร์ตคุณเพิ่มได้ 1 เท่าตัว..มันยากจริงๆ แต่คุณจะรู้สึกภูมิใจ... ผมยังจำได้ ตอนที่เล่นหุ้นใหม่ๆ เครดิตเราก็ไม่มี ไม่มีใครอยากมองเรา เพราะว่าพอร์ตเราเล็ก เราจะไปคุยกับรายใหญ่ เขาก็กลัวว่าเราจะไปเกาะเขา ช่วงนั้นสำหรับผมมันยากที่สุด และน่าจดจำที่สุด" เขาเล่าว่าวิธีการเล่นหุ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การเล่นหุ้นไม่ใช่แบบนี้ ใครไปซื้อหุ้นพื้นฐานไม่ได้กำไร สมัยก่อน "หุ้นปั่นครองเมือง" (ยิ่งกว่านี้อีก) ประมาณปี 2535-2536 เพิ่งมีการตั้งกองทุนรวม(บลจ.)ใหม่ๆ กองทุนยังเล่นหุ้นไม่เก่ง ต่างชาติก็ยังไม่มากอย่างทุกวันนี้ มีแต่ "นักลงทุนรายใหญ่" "เจ้าของหุ้น" กับ "รายย่อย" ที่เล่นกัน ใครเล่นหุ้นพื้นฐานไม่ได้กำไร
...คำว่า "ปั่น" มันแปลว่า "หมุน" จึงไม่ใช่ของจริง ต้องเข้า-ออกเร็ว เมื่อไรที่หุ้น "หมุนช้า" หรือ "หยุดหมุน" ใครออกไม่ทันก็ "เจ๊ง" นี่คือ สัจธรรมของหุ้นปั่น ประสบการณ์ยังสอนวิชัยว่า ใครที่เล่นหุ้นปั่นแล้วไม่ยอมเลิก ได้มาเท่าไรก็ต้องคืนกลับไปหมด เพราะธรรมชาติของหุ้นปั่น เหมือนการ "ตีฟอง" หมดรอบเมื่อไหร่ ราคาก็หมด คือไม่เหลือค่าอะไร เขาย้ำว่า..คนที่เล่นหุ้นปั่นแล้วรอดมาได้ ไม่ใช่ว่าเราเก่ง(ถ้าไม่ใช่พวกเขา)เพราะพวกนั้นเขาตั้งใจเอา "ปืนแก๊ป" มาดวลกับเรา เขาหลอกล่อให้เราได้กำไรก่อน..แต่ถ้าวันไหนมันเอา "แห" มาครอบเรา หมายถึง ทุบหุ้นออกมาทุกราคา วันนั้น..คุณโดน(เจ๊ง)แน่
แต่พอผ่านมาอีก 10 ปี หลังยุควิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 กองทุน(บลจ.)เริ่มมีประสบการณ์ เริ่มเก่ง เพราะเหตุว่า หนึ่ง..เขาใกล้ชิดข้อมูล เขาศึกษาข้อผิดพลาดมาเยอะ สอง..วิธีการเขาเปลี่ยน เล่นสั้นได้ เล่นยาวได้ การบริหารพอร์ตของเขาจะยืดหยุ่นตลอดเวลา พอกองทุนเริ่มเก่ง บวกกับเงินต่างชาติเข้ามามาก จากหุ้นเก็งกำไรครองเมือง ก็เปลี่ยนมาเป็นหุ้นพื้นฐานครองเมือง
"...ถึง พ.ศ.นี้ ผมมองว่า ถ้าคุณไม่มี "อินไซด์" ต้องเล่นหุ้นพื้นฐานอย่างเดียวเลย ถึงจะมีโอกาสรวย" วิชัยบอกว่า นักลงทุนรายใหญ่เท่าที่สังเกต เขาจะลงทุนแบบ "โฟกัส" ในหุ้นหนักๆอยู่ไม่กี่ตัว เพราะการกระจายพอร์ตมากตัวเกินไป ถ้าไม่ใช่นักลงทุนระยะยาวจริงๆ การตัดสินใจ "ซื้อ-ขาย" จะผิดพลาดได้ง่าย "อย่างพอร์ตของผม จะถือหุ้นอยู่แค่ 1-2 ตัว" วิชัยอธิบายว่า จริงๆแล้วการเล่นหุ้น เรารู้..เราเก่งของเราแค่ตัวเดียวพอ ขออย่างเดียว หุ้นที่เราซื้อต้องตอบคำถามได้ว่า เราเล่นหุ้นตัวนี้เพราะอะไร? มันทำธุรกิจอะไร? มันจะขึ้นเพราะอะไร? เหตุผลมันคืออะไร? มันเปลี่ยนชื่อเพราะอะไร? ต้องการสร้างภาพพจน์ให้ดีขึ้นรึเปล่า "ผมขอให้คุณเก่งหุ้นแค่ทีละตัว หรืออย่างมากแค่ 3 ตัวพอ รู้ให้ลึก..รู้ให้แตกฉาน แล้วทนรอกับมันได้ คุณจะรวยมหาศาล" "...แต่ต้องเก่งจริงๆนะ ต้องรอกับมันได้ อย่าเป็นคนใจเร็วด่วนได้ เพราะคุณจะไม่ได้..นี่เรื่องจริง"
นอกจากนี้ คนที่จะเล่นหุ้นแล้วรวย คุณจะต้องหา "หุ้นในดวงใจ" ให้ได้ก่อน วันไหนที่คุณมีหุ้นในดวงใจแล้ว คุณจะเหมือน "เสี่ยปู่" สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล เขาจะนิ่ง เขาจะอดทน เขาจะ Let the Profit Run แล้วได้กำไรเยอะ ...แต่ถ้าวันไหนคนเล่นหุ้นไม่มีหุ้นในดวงใจ..คุณไม่มีทางรวย รับประกันได้ คุณไม่มีทางรวยแน่ๆ หุ้นขึ้นไป 2-3 ช่อง..เห็นเขาวางขายเป็นล้านหุ้น คุณจะใจไม่อยู่(ใจเสีย)รีบขายตาม พอหุ้นเด้งขึ้นมาใหม่ คุณก็ไม่กล้าซื้อกลับ ถ้ากล้าซื้อก็จะซื้อน้อยลง "นี่แหละ..จุดพลาดสำคัญ ที่ทำให้นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ ไม่ประสบความสำเร็จ" เขาวิเคราะห์ให้ฟัง
ตอนที่ 9 อย่ารีบซื้อความสุข
คนเราต้องตั้งเป้าหมายให้สูงๆเข้าไว้ และในระหว่างที่ต้นไม้กำลังโต คุณอย่ารีบไปเด็ดยอดทิ้ง อย่าด่วนเอาเงินมาซื้อความสุข ใจเย็นๆ ไว้ก่อน "คนฟุ่มเฟือย แม้จะรวยก็มักขัดสน คนประหยัด แม้จะจนก็มักมีเหลือเก็บ" วิชัย วชิรพงศ์ ฝากถึงนักลงทุนรุ่นใหม่ว่า ช่วงที่พอร์ตหุ้นของเรายังไม่โตมาก อย่าด่วนเอากำไรไปซื้อความสุข เพราะนั่นคุณยังไม่ประสบความสำเร็จเลย คุณต้องใจเย็นๆ พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เก็บเอากำไรไปลงทุนต่อ ซึ่งภาษาการลงทุนเรียกว่า.."Reinvestment" "ผมเห็นมาเยอะ พอได้กำไรหุ้นมา 5-6 ล้านบาท บางคนซื้อนาฬิกาเรือนละ 7-8 แสนมาใส่ มองดูแล้วคนอย่างนี้โอกาสที่จะชนะในระยะยาว "ยาก" แค่เริ่มต้นก็เห็นจุดอ่อนแล้ว" วิชัยบอกว่า วันที่ตัวเองมีเงินถึง 100 ล้านบาท ถึงได้ให้รางวัลชีวิต ไปซื้อรถยนต์ Mercedes-Benz รุ่น S 280 มาขับ สมัยนั้นรถรุ่นนี้ราคาคันละกว่า 4 ล้านบาท "ชีวิตผมแม้จะสำเร็จ..ได้กำไรหุ้นมาตลอด แต่ก็ยังทนใช้รถยนต์คันเก่าไม่ยอมเปลี่ยน บ้านที่อยู่ก็ไม่ใช่บ้านของตัวเอง อาศัยบ้านพ่อตา-แม่ยายอยู่ จำได้ว่าช่วงก่อนหน้าที่ดัชนี SET จะขึ้นมา 1,700 จุด ก่อนหน้านั้น ผมไปขออนุญาตภรรยาว่า..ถ้าวันไหนผมมีเงินถึง 100 ล้านบาทนะ..ขอซื้อรถ Benz มาขับสักคัน" ...แฟนก็บอกว่าเอาเลย ถ้าเธอแน่จริงก็ทำให้ได้ซิ! แล้ววันที่ผมมีเงินถึง 100 ล้านบาท (ช่วงดัชนี 1,700 จุด) ก็ไปซื้อ S 280 มาขับ แต่ก่อนจะซื้อ ช่วงนั้นก็ยังอยู่บ้านพ่อตา-แม่ยาย อยู่ตึกแถวย่านประตูน้ำ ก็ให้แฟนไปบอกพ่อแม่เขาว่า ผมขออนุญาตซื้อรถ Benz นะ เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราเป็นคน "โอเวอร์" กลัวเขาจะมองว่าเป็นพวกอวดร่ำอวดรวย" เมื่อพอร์ตโตขึ้น..มีเงินระดับ 300-400 ล้านบาท วิชัยถึงได้เปลี่ยนมาใช้รถเบนซ์สปอร์ต และเมื่อมีเงินถึงระดับ "พันล้าน" ถึงได้สัมผัสรถยนต์ในฝัน "เฟอร์รารี่" ราคาคันละ 22 ล้านบาท ซึ่งเหมาะสมกับฐานะที่พึงมี
ชีวิตคนเราจะก้าวหน้าต่อไปได้ วิชัยให้แง่คิดว่า คนเราต้องตั้งเป้าหมายให้สูงๆเข้าไว้ ในระหว่างที่ต้นไม้กำลังโต คุณอย่ารีบไปเด็ดยอดทิ้ง คุณกำไรมา 10-20 ล้านบาท อย่ารีบเอามาใช้จ่าย ใจเย็นๆ ไว้ก่อน "ผมอยากให้คนเล่นหุ้น ไม่ใช่ว่าได้กำไรมาแล้วคุณเอาเงินไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ผมทนใช้รถคันเก่า โดยตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง เราต้องรู้จักอดทนเพื่อรอวันที่ประสบความสำเร็จก่อน" ประสบการณ์ตลอด 20 ปีในตลาดหุ้น..ย้ำสอนกูรูหุ้นท่านนี้ว่า ความสำเร็จในตลาดหุ้นเพียงชั่วขณะใดขณะหนึ่ง เราต้องไม่หลงระเริง เพราะนั่นยังไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง..คุณต้องพิสูจน์เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ต้องทำให้ได้เสียก่อน "...เพราะ "เงิน" จะเติบโตก็เฉพาะกับคนที่รู้จักใช้มัน ในเวลาที่เหมาะสม" เขาเชื่อเช่นนั้น วิชัยเล่าว่า การตัดสินใจหันเหชีวิตมาเอาดีด้านการเล่นหุ้นเป็นอาชีพ ช่วงแรกโดนดูถูกมาก สุดท้ายถึงได้ล้มล้างภาพให้เห็นว่าคนเล่นหุ้น ก็สำเร็จได้ "ภรรยาผมเป็นหลานอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ครอบครัวเขามีหน้ามีตา มีฐานะ คุณพ่อ-คุณแม่ภรรยาก็เป็นหมอ (อยู่โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลเด็ก) เขามีพี่น้อง 4 คน อนาคตดีๆกันทั้งนั้นเลย มีแต่ผมเป็นคนจีนต่างด้าว ไม่มีอะไรเลย ห่วยที่สุด ไม่น่าไว้วางใจที่สุด แล้วไปอาศัยอยู่บ้านเขาอีกต่างหาก"
ก่อนจะมาเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ วิชัยบอกว่า ก่อนหน้านั้นสิ่งที่รู้สึกมากก็คือ ไม่รู้ว่าคนรอบข้างจะมองตัวเองอย่างไร ซึ่งก็คิดไปในแง่ร้ายว่า เขาคงมองเราว่าไอ้คนนี้ท่าทางมันจะแย่ที่สุด ปัจจัยที่จะทำให้เรามีเครดิตจากสังคมรอบข้าง ดีที่สุดเราต้องพิสูจน์ตัวเอง วิชัยมีคติประจำใจว่า หนึ่ง..เราต้องเป็นคนดี สอง..ถ้าเราทำอะไรไว้ต้องได้สิ่งนั้น และสาม..เครดิตสำคัญที่สุด ต้องรักษาไว้ นอกจากนี้เขายังชักจูงคนใกล้ชิด นำเงินมาฝากเพื่อบริหารพอร์ตให้ ถ้าไม่มั่นใจก็รับประกันการขาดทุนให้ด้วย เล่นไม่นานก็ได้กำไรเป็นเท่าตัว วิชัยบอกว่า บางคนอยากจะเข้ามาเล่นหุ้นเอง แต่ต้องบอกกลับไปว่า.."อย่าเล่นเลย ให้ผมบริหารพอร์ตให้ดีกว่า" ตามปกติการบริหารพอร์ตให้คนอื่น สมมติเอาเงินมาฝาก 100 บาท ถ้าเล่นหุ้นได้กำไรจะต้องได้ส่วนแบ่ง 30% ถ้าขาดทุนต้องช่วยออกด้วย 20% ในวงการทำกันอย่างนี้ แต่สำหรับวิชัย ถ้ากำไรให้คืนไปหมดเลย ถ้าพอร์ตเล็กๆ 1-2 ล้านบาท ก็จะรับประกันการขาดทุนให้ด้วย "ผมมีความเชื่อว่า การช่วยเหลือคนอื่นมันเป็นตัวส่งเสริมให้เราเล่นหุ้นได้กำไรมาตลอด...คือเราไม่ได้ไปเอาเล็กๆ น้อยๆ จากเขา มันเป็นบุญคุณที่ส่งเสริมให้เราสำเร็จ เพราะใครรู้ข่าวอะไรก็มาบอกเรา มีคนฝากผมตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 50-60 ล้านบาท" เขากล่าว วิชัยสรุปตอนท้ายว่า คนเรานั้น การรักษาเครดิตสำคัญมากๆ อย่าให้เสีย อีกอย่าง เราอย่าไปเอาเปรียบคนอื่น อยู่ในวงการนี้ถึงจะมีพรรคพวกมีคนนับถือ 2 ข้อนี้ จะส่งเสริมให้เราประสบความสำเร็จ..จำไว้!
ตอนที่ 11 ปตท.หุ้น The Winner1
เส้นทางการเติบโต..พอร์ตหุ้นของวิชัย วชิรพงศ์ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว เขาเพียรพยายามนำกำไรมาลงทุนต่อ (Reinvestment) โดยไม่เด็ดยอดความสำเร็จ เอาไปซื้อหาความสุข ก่อนถึงเวลาอันควร นานนับสิบปีพอร์ตของวิชัยก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆอย่างน่าอัศจรรย์ เขาไม่ใช่ "พ่อมด" ที่เสกเงินได้เอง แต่เขาเชื่อในหลักการของ "พลังแห่งการทบต้นของเงิน" วิชัยเชื่อว่า พอร์ตหุ้นของนักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ในระหว่างทางคุณจำเป็นต้องเจอหุ้น "แจ๊คพอต" (หุ้นในดวงใจ) ที่ทำกำไรครั้งละมากๆ ต้องมีผ่านเข้ามาเป็นระยะ พอร์ตจึงจะเติบโตได้ "...การเล่นหุ้นเพื่อหวังกำไร 3-5% เป็นการลงทุนที่มีโอกาส "ร่ำรวย" ได้ยาก!!! เพราะการตัดสินใจ(ซื้อ-ขาย)บ่อย โอกาสผิดพลาดจะมีสูง" กูรูหุ้นรายนี้ แนะนำว่า ระหว่างที่ "จังหวะ" และ "โอกาส" ยังมาไม่ถึง นักลงทุนอาจจะแบ่งเงินลงทุนบางส่วน มาเล่นหุ้นเก็งกำไร แต่ไม่ควรทุ่มเทเงินทั้งหมด มาเสี่ยงในสถานการณ์ที่เราไม่มั่นใจเต็มร้อย ขณะเดียวกัน..ในระหว่างที่เรากำลังจับ "ปลาเล็ก" (หุ้นเก็งกำไร) คุณต้องพยายามค้นหา "หุ้นในดวงใจ" (ของรอบ) และควรเตรียมแหอวน สำหรับการจับ "ปลาใหญ่" ไว้ให้พร้อม เขาเชื่อว่าในทุกๆปี จะมีฤดูกาล "จับปลาใหญ่" อย่างน้อย 1 คลื่นใหญ่ คุณต้องหาหุ้นที่ "แจ๊คพอตแตก" ให้เจอ และต้องกล้าที่จะ "ทุ่ม" ลงไปกับมัน สำหรับหุ้นที่เป็น "จุดหักเห" ของพอร์ตวิชัย ตัวหนึ่งก็คือ หุ้นปตท.(PTT) เขาบอกว่าหุ้นตัวนี้ทำกำไรให้มากที่สุด ประมาณ 700 ล้านบาท เสี่ยยักษ์ เล่าว่า ก่อนที่หุ้นปตท.จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ช่วงปลายปี 2544 ก่อนหน้านั้นรู้อยู่แล้วว่าหุ้นตัวนี้ต้องดีแน่ เป็นหุ้นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดด้านพลังงานของประเทศ ทุกคนมองหุ้นตัวนี้ดีหมด "ผมจ้างคนไปเข้าคิวจองหุ้นปตท. ตั้งแต่ตี 5 ใช้ชื่อญาติพี่น้องเป็นสิบๆคน กระจายกันไปจอง จำได้ว่าคนหนึ่งจองได้ 20,000 หุ้นราคาไอพีโอ 35 บาท ก่อนหน้านั้นผมกลับไปที่จังหวัดอยุธยา ไปเขียนใบจองล่วงหน้า 2-3 วัน โดยขอออเดอร์แรกทุกสาขา ทุกธนาคารที่เปิดจอง เพราะในต่างจังหวัดไม่ค่อยมีคนนิยมเล่นหุ้น ผมก็ไปเตรียมการไว้ก่อน ...สรุปว่า ได้หุ้นมารวมกัน 7 แสนหุ้น ผมไม่มีเส้นสาย ไม่มีพวก จำนวนหุ้นขนาดนี้ถือว่าเยอะมาก ได้มา 35 ใบจอง ลงทุนไป 24.50 ล้านบาท" วิชัย จำได้ว่า ความคิดตอนนั้น จะฝากชีวิตไว้กับหุ้นปตท. นี่แหละ!! แต่ที่ไหนได้..หลังจากหุ้นปตท.เข้ามาเทรดในตลาดวันที่ 6 ธันวาคม 2544 ขึ้นไป High ที่ราคา 38.25 บาท แล้วถูกกดลงมาปิดที่ราคา 35.75 บาท "ชั้นเชิงของรายใหญ่ (พวกกองทุน) เขาจะต้องขยายหุ้นหรือเพิ่มจำนวนหุ้นในพอร์ต ก่อนลากราคาขึ้นไป พอเปิดมา 35.75 บาท เขาบี้อยู่อย่างนั้นตั้งนาน จนผมทนไม่ไหว ต้องขายออกไปที่ราคา 35.50 บาท การที่เราโฟกัสหุ้นตัวนี้ตัวเดียว เวลาที่หุ้นลง ความรู้สึกมันอึดอัดมาก"
วิชัย บอกความรู้สึกว่า รายใหญ่เขาจะจับเรา(นักลงทุน)เข้าเครื่องเขย่าหุ้น ให้คนที่ใจไม่ถึงต้องออกไป กลยุทธ์ของเขาคือ ทำให้พวกที่ใจไม่ถึงต้อง "คืนของ" หรือ "ขายคืน" ประจวบกับช่วงนั้นดัชนี SET อยู่แถว 300 จุดต้นๆ หุ้นตัวเล็กตัวน้อยขึ้นตลอด จนวิชัยทนไม่ไหว ต้องขายหุ้นปตท.ที่เป็นหุ้นในดวงใจในขณะนั้น ทิ้งไปทั้งก้อน "ช่วงนั้น ผมซื้อหุ้นปตท.เพิ่มเป็น 1 ล้านหุ้น ลงทุนไปประมาณ 35 ล้านบาท กู้เครดิตบาลานซ์ซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านหุ้น รวมเป็น 2 ล้านหุ้น แต่ไม่สำเร็จก็ต้องออก เอาเงินไปเล่นเก็งกำไรหุ้นตัวอื่น" หลังจากนั้นดัชนี SET ก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ แม้พอร์ตของวิชัยจะเพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านบาท (ช่วงหุ้นปตท.เข้าตลาด) เพิ่มขึ้นมาเป็น 70 ล้านบาท จากการเล่นหุ้นเก็งกำไร พอร์ตหุ้นโตขึ้นมา 1 เท่าตัว แต่เขาก็รู้สึกว่าชีวิตเสี่ยงมาตลอดทาง ขณะเดียวกันหุ้นปตท. ก็ค่อยๆ แอบขึ้นมาเงียบๆ แต่ก่อนจะขึ้นใหญ่ ราคาหุ้นปตท.วิ่งในลักษณะ "ไซด์เวย์" อยู่นานเป็นปี (2545-กลางปี 2546) จากราคาจอง 35 บาท ราคาหุ้นลงไปต่ำสุด 28.75 บาท ในวันที่ 30 เมษายน 2545 แล้วไล่ขึ้นไป 38 บาทในวันที่ 12 มิถุนายน 2545 จากนั้นก็กดราคาลงมาอีกทีเหลือ 34 บาทในวันที่ 2 สิงหาคม 2545 ต่อจากนั้นราคาก็เคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ 38 - 45 บาทนานอีกหลายเดือน จนถึงกลางเดือนเมษายน 2546 ราคาหุ้นปตท.ทะยานขึ้นไปเร็วมาก ขึ้นไป 78 บาทในวันที่ 8 กรกฎาคม 2546
วิชัย อธิบายว่า จากช่วงเดือนธันวาคม 2544 ถึงกรกฎาคม 2546 พอร์ตหุ้นของตัวเองเพิ่มขึ้นมา 1 เท่าตัวจากการเล่นหุ้นปั่น ขณะที่หุ้นปตท. ก็ขึ้นมา 1 เท่าตัวเหมือนกัน "ถ้ามองย้อนกลับไป มันก็ดีที่คุณมีเงิน 35 ล้านบาทเพิ่มเป็น 70 ล้านบาท แต่ผมฉุกคิดได้ว่า เวลาที่เราเล่นหุ้นปั่นกำไร 100% ก็จริง แต่มันเสี่ยงตลอดทาง เข้าถูกตัวบ้าง เข้าผิดบ้าง ที่บอกว่ามันเสี่ยงก็เพราะว่าหุ้นหลายตัวที่เล่น พี/อี 30-40 เท่า แล้วบางตัวขาดทุน เพราะหุ้นปั่นส่วนใหญ่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี ยิ่งถือนานยิ่งเสี่ยง" ช่วงปี 2545 ในก๊วนตีกอล์ฟ วิชัยยังจำได้ว่า เคยบอกให้เพื่อนๆ เก็บหุ้นปตท. เดี๋ยวมีรถเฟอร์รารี่ขับ "เชื่อผมซิ!" แต่ไม่มีใครซื้อ เพราะมันไม่สนุก เขาไปเล่นหุ้นปั่นกันหมด "...ช่วงที่หุ้นปตท.อยู่แถวๆ 35 บาท ผมเชียร์ให้ทุกคนซื้อเก็บยาวเลย แล้วไม่ต้องมอง เพราะผมมองว่ารายใหญ่ รายย่อย มีต้นทุนเท่ากัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ผมดันทนไม่ไหวเอง ขายหุ้นทิ้งออกไปก่อน" เสี่ยยักษ์ กล่าวถึง การตัดสินใจที่ผิดพลาดในครั้งนั้น
ตอนที่ 11 ปตท.หุ้น The Winner2
วิชัย วชิรพงศ์ กล่าวว่า บทเรียนที่ผ่านมามันทำให้ตนเองมีคติประจำใจว่า ถ้าจะกำไรเยอะๆ ต้องถือหุ้นยาวๆให้ได้ เมื่อรู้ว่า "เดินทางผิด" ไปทุ่มลงทุน "หุ้นปั่น" แทนที่จะเป็นหุ้น ปตท.ที่ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่แรก กำไรที่ได้มาจากหุ้นปั่น 100% เท่าๆ กับการขึ้นของหุ้น ปตท.จาก 35 บาทขึ้นมา 70 บาท แต่ตลอดทางที่ทำกำไรจาก "หุ้นปั่น" วิชัยกลับรู้สึกกระวนกระวายใจ ชีวิตไม่มีความสุข เพราะรู้สึกว่าตัวเองเสี่ยงทุกวัน จิตใต้สำนึกบอกว่าถ้าขืนเล่นหุ้นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะต้องมีวันพลาดท่า "เจ๊ง" ไม่วันใดก็วันหนึ่งแน่ๆ "จำได้ว่า ก่อนที่จะกลับมาเข้าหุ้น ปตท.(ครั้งที่ 2) ผมไปเข้าหุ้น HEMRAJ เกือบ 30 ล้านหุ้น วันนั้นราคาขึ้นไปทำนิวไฮที่ 2.70-2.80 บาท ลงทุนไปประมาณ 70 ล้านบาท ซื้อหุ้นตัวเดียวเต็มพอร์ต ...พอซื้อเสร็จ มันก็ขึ้นไปทำนิวไฮ พอกลับไปบ้าน ทั้งคืนนอนไม่หลับ เพราะหุ้นตัวนี้ (ตอนนั้น) พี/อี มันสูงมาก ได้แต่รำพึงกับตัวเองว่า..กูหาเรื่องแท้ๆ ไม่น่าซื้อเลย" ย้อนถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น เสี่ยยักษ์มานั่งคิดว่า โอ้โห! ทำไมเราถึงกล้ามาก รู้เลยว่าที่ผ่านมาเราตัดสินใจผิดพลาดแล้วนะ เพราะพอร์ตเราใหญ่ ลูกเรายังเล็กอยู่ ถ้าพลาดท่าเราตายแน่ เขาอธิบายคำศัพท์ของนักเล่นหุ้นที่บอกว่า "ลูกยังเล็กอยู่" ความหมายคือ ลูกเรายังเล็ก..จะพลาดไม่ได้ หมายความว่าหุ้นตัวนี้ "อันตราย" เราต้อง Cut Loss ทิ้ง เมื่อรู้ตัวว่า "ซื้อแพง" ถลำลึกกับหุ้นเก็งกำไรจนหมดตัว เช้าวันรุ่งขึ้น วิชัยจึงตัดสินใจขายหุ้น HEMRAJ ทิ้งทั้งหมด จากเดิมที่มีกำไรหลายล้านบาท กลับเป็นว่าไม่เหลือกำไรเลย แต่เขาไม่เสียใจ ...เพราะการซื้อหุ้นแล้วเราไม่สบายใจ การขายหุ้นออกไปให้หมด จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด จากนั้นวิชัยก็เอาเงินทั้งหมดประมาณ 70 ล้านบาทมาซื้อหุ้น ปตท. "ตัวเดียว" โดยเข้าลงทุนประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ปี 2546 ซึ่งขณะนั้นราคาหุ้นได้แอบขึ้นจาก 35 บาท ไป 70 บาทแล้ว สาเหตุอะไรที่ทำให้วิชัยฉุกคิดได้ว่าต้องทิ้งหุ้น HEMRAJ แล้วมาซื้อหุ้น ปตท.?
เหตุผลอยู่ที่ความเชื่อมั่นใน "ผลประกอบการ" ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเป็นการเติบโตมาจากฐานที่ต่ำ หุ้น ปตท.ในขณะนั้นจึงเป็น Super Growth Company หมายความว่า หุ้นจะมี "อัตราเร่ง" ของราคาที่มากกว่าภาวะปกติ อีกมิติทางการเมือง..รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น ก็มีความเข้มแข็งถึงขีดสุด อีกทั้งมีนโยบายเกื้อหนุนให้ ปตท.เติบโตอย่างชัดเจน ช่วงที่ ปตท.ประกาศผลการดำนินงานปี 2545 (ปีแรกที่เข้าตลาดหุ้น) มีกำไรสุทธิ 24,506 ล้านบาท พอปี 2546 กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 39,400 ล้านบาท พอปี 2547 กำไรก้าวกระโดดเป็น 62,666 ล้านบาท "5 ปีย้อนหลัง ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (2545-2549) หุ้น ปตท.มันขึ้นมาตลอด" วิชัยยังจำได้อีกว่า ช่วงที่ราคาหุ้น ปตท.ขยับขึ้นจาก 35 บาทมาถึง 70 บาท จากนั้นก็ประกาศงบการเงินงวดครึ่งปี 2546 กำไรออกมาดีมาก 17,623 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 6.30 บาท ถ้าจำไม่ผิด พี/อี แค่ 5 เท่านิดๆ เท่านั้นเอง (ทั้งปีกำไรต่อหุ้น 14.09 บาท) "ช่วงที่หุ้น ปตท.ขึ้นมาถึง 70 บาท ดัชนี SET ขยับขึ้นมาจาก 340 จุด ขึ้นมาเกือบๆ 500 จุด ผมเข้าไปซื้อหุ้น ปตท.แถวๆนี้ ช่วงประกาศงบการเงินงวดครึ่งปี 2546" ระหว่างที่เข้าไปซื้อหุ้น ปตท. วิชัยถือที่ต้นทุน 70 บาท เกมเขย่าราคาก็เกิดขึ้นอีกครั้ง รายใหญ่ใช้วิธี "โยนหุ้น" ในกรอบราคา 69-75 บาท ย่ำฐานอยู่แถวนี้ ทำให้คนที่ซื้อเยอะๆ รู้สึกอึดอัด ถ้าใครทนไม่ไหวก็ต้อง "คายหุ้น" กลับคืนไป "มันบี้ผมช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2546 ผมก็ทนถือเอาไว้ เพราะรู้ว่ามันต้องประกาศงบทั้งปีออกมาดีแน่ๆ ขณะที่หุ้นปั่นตัวอื่นๆตกกันหมด ถ้าใครใจไม่อยู่ก็ต้องคืนของเขาไป..แต่ผมปักหลักสู้" ช่วงที่ตลาดหุ้นถูกเขย่าไปพร้อมๆกับหุ้น ปตท. วิชัยบอกว่า ช่วงนั้นดัชนี SET ขึ้นไป 500 ต้นๆ แล้วก็ถูกทุบลงมา กราฟตอนนั้นมีคน "เจ๊งหุ้น" (ปั่น) เยอะมาก ใครที่เล่นหุ้นปั่นตายหมด ตรงกันข้ามกับหุ้น ปตท.ที่ยืนกับขึ้น การที่หุ้น ปตท. "ยืน" กับ "ขึ้น" ในภาวะขาลง เขารู้ทันทีว่า การตัดสินใจเปลี่ยนจากหุ้นเก็งกำไรมาซื้อ ปตท. เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง มิฉะนั้นก็คงจะไม่มีชื่อ "วิชัย วชิรพงศ์" อย่างทุกวันนี้
ตอนที่ 12 รวย
ถ้าเราไม่รู้ว่าหุ้นจะขึ้นต่อไปอีกหรือไม่ เราต้อง Let the Profit Run ปล่อยให้กำไรวิ่งเต็มสตีม เมื่อไรที่ราคาเริ่มปรับฐานลงมา "พร้อมวอลุ่ม" เราก็ล้างพอร์ตออกไปให้หมด การที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เลือกลงทุน "หุ้นปั่น" ในช่วงแรก แทนที่จะเป็นหุ้น ปตท. "หุ้นในดวงใจ" เนื่องจากมองว่า "เชื่องช้า" ให้ผลตอบแทนไม่ทันใจ แต่หุ้น ปตท.ระหว่างรอยต่อของ Business Cycle จาก "ยุคขยายตัว" (Expansion) ไปสู่ "ยุครุ่งเรือง" (Boom) ของราคาน้ำมัน หุ้นปตท.กลับเป็น "ช้างที่ปราดเปรียว" กำไรโตพรวดพราดอย่างน่าทึ่ง "...ใครหาหุ้นอย่างนี้เจอ "แจ๊คพอตแตก" แน่นอน!!!" เสี่ยยักษ์สรุปสั้นๆ
เสี่ยยักษ์ย้อนเล่าว่า ช่วงนั้นตนเองมีเงินอยู่ 70 ล้านบาท ตัดสินใจซื้อหุ้น ปตท.ตัวเดียวเลย 1 ล้านหุ้น ซึ่งราคามันวิ่งขึ้นมาจาก 35 บาทมาที่ 70 บาท (ขึ้นมา 100% แล้ว) แต่ความมั่นใจของเรา ทำให้ "กู้เครดิตบาลานซ์" ซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านหุ้นรวมเป็น 2 ล้านหุ้นมูลค่า 140 ล้านบาท ช่วงเดือนกันยายน 2546 หุ้นปตท.ขยับขึ้นไป 83 บาท นั่นคือจุดผกผันของชีวิตครั้งใหญ่ "ผมจะชอบอ้างคำพูดของ "แซม สนีด" อดีตนักกอล์ฟมือหนึ่งของโลก ที่เคยบอกว่า การตีกอล์ฟระยะไกลๆลงหลุมแบบ "โฮลอินวัน" มันเป็นเรื่องของโชคชะตา แต่ตีกอล์ฟให้ห่างธงระยะ 1-2 ฟุต ได้ทุกครั้งนี่คือฝีมือล้วนๆ" วิชัยเปรียบเทียบการเล่นหุ้นกับการตีกอล์ฟว่า คุณซื้อหุ้นให้ถูกตัว..ถูกเวลา เหมือนกับการตีกอล์ฟให้ใกล้หลุม "มันเป็นฝีมือ" แต่ผลสำเร็จสุดท้ายโชคชะตา "ฟ้า" จะเป็นผู้ลิขิต "ใครจะไปรู้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมันจะวิ่งจาก 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขึ้นไป 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตอนซื้อหุ้นปตท.ใหม่ๆ ผมก็ไม่รู้ มันทำให้หุ้น ปตท.พุ่งขึ้นจาก 70 บาทไป 190 กว่าบาท ภายในเวลาแค่ 5-6 เดือนเท่านั้น" ถ้าย้อนหลังกลับไปในเดือนมิถุนายน 2546 ราคาหุ้น ปตท.ปิดตลาดที่ 66.50 บาท อีก 6 เดือนต่อมาในเดือนธันวาคม 2546 ราคาหุ้น ปตท.ทะยานขึ้นไปสูงสุดที่ 193 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 190% ในรอบ 6 เดือน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ) ค่อยๆขยับขึ้นจาก 25-27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงเดือนมิถุนายน 2546 ทะยานพุ่งขึ้นไปสูงสุด 72-73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเดือนกรกฎาคม 2549 เป็นทิศทางขาขึ้นนานถึง 3 ปีเต็ม ระหว่างที่ราคาหุ้น ปตท.กำลังปรับขึ้นเพื่อสร้างสถิติใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยสัญชาตญาณของ "นายพราน" เสี่ยยักษ์ ขณะนั้นมีหุ้นปตท.อยู่แล้ว 2 ล้านหุ้น (กู้เครดิตบาลานซ์ 1 ล้านหุ้น เงินตัวเอง 1 ล้านหุ้น) พอหุ้น ปตท.ปรับขึ้น "อำนาจซื้อ" ก็เพิ่มขึ้น หมายความว่า วงเงินกู้เครดิตบาลานซ์ ก็เพิ่มขึ้นตาม เขาก็ใช้วิธีกู้เงินซื้อหุ้น ปตท.เพิ่มเข้าพอร์ตไปเรื่อยๆ ราคาหุ้นยิ่งปรับขึ้น อำนาจในการ (กู้) ซื้อก็ยิ่งเพิ่มขึ้น "...จาก 2 ล้านหุ้น ผมก็มีหุ้นเพิ่มเป็น 4 ล้านหุ้น" ทั้งๆ ที่เสี่ยยักษ์มีทุนซื้อหุ้นครั้งแรกเพียง 70 ล้านบาทหรือ 1 ล้านหุ้นเท่านั้น "ข้อดีของการเล่นหุ้นด้วย "เครดิตบาลานซ์" เมื่อมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มขึ้น (ราคาหุ้นสูงขึ้น) ผมก็กู้เงินซื้อหุ้น ปตท.เพิ่มเข้าพอร์ตตลอดเวลา ที่มั่นใจก็เพราะว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกมันขึ้นไปเรื่อยๆยิ่งขึ้น ผมก็ยิ่งซื้อหุ้น ปตท.เก็บ" เขาบอกว่า ขณะนั้นมีต้นทุนถัวเฉลี่ยในพอร์ต (จำนวน 4 ล้านหุ้น) อยู่ที่หุ้นละ 90 บาท จนถึงต้นปี 2547 หุ้น ปตท.ขึ้นไป 193 บาทก็ยังไม่ขาย มาขายที่ราคา 170 กว่าบาท "สาเหตุที่ยังไม่ขาย ก็เพราะว่าเราไม่รู้ว่าหุ้นจะขึ้นต่อไปอีกหรือไม่ เราต้อง Let the Profit Run ปล่อยให้กำไรวิ่งเต็มสตีม เมื่อไรที่ราคาเริ่มปรับฐานลงมาพร้อมวอลุ่ม เราก็ล้างพอร์ตออกไปให้หมด" วิชัยสรุปว่า หุ้นปตท.ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะหุ้นปตท.ตัวเดียวทำกำไรให้รวมกันมากที่สุด ประมาณ 700 ล้านบาทจากเงินลงทุนเพียงแค่ 70 ล้านบาท
"พอผมไปซื้อหุ้น ปตท.ใช้เครดิตบาลานซ์ ซื้อเพิ่ม เผอิญราคาน้ำมันมันขึ้น ขึ้นอย่างมากๆนั่นคือลิขิตโชคชะตา แต่ตอนแรกที่เราตีกอล์ฟไปใกล้ธงระดับ 2 ฟุตนั่นคือฝีมือ" ...แล้วเราจะค้นหาหุ้น "แจ๊คพอตแตก" อย่างนี้ได้อย่างไร? เสี่ยยักษ์สรุปไว้สั้นๆว่า คุณต้องฝึกซ้อม..คุณต้องฝึกซ้อม..คุณต้องฝึกซ้อม..คุณต้องสู้ตาย..คุณต้องทุ่มเท พร้อมทั้งบอกว่า คนเราถ้ามันจะรวย มันมีส่วนของ "ฟ้าลิขิต" มาช่วยด้วย 5 เดือนเองนะครับที่หุ้นปตท.ขึ้นจาก 70 บาทไปเป็น 190 บาท นี่คือส่วนของฟ้า ส่วนของเราคือ ต้องเลือกหุ้นให้ถูกตัว แล้วต้องซื้อให้ถูกเวลา "..นี่ไม่ง่ายนะครับ!!!" ทั้งหมดนี้คือบทพิสูจน์ว่าหุ้น ปตท.ช่วงที่กำลังเติบโต (รวมทั้งหุ้น Super Growth Company ตัวอื่นๆ) ไม่ใช่ "ช้างที่เชื่องช้า" แต่เป็น "ช้างที่ปราดเปรียว" ในบางขณะ อยู่ที่ว่า คุณ..จะหาจังหวะนั้นเจอหรือไม่ ???
ตอนที่ 13 "วอลุ่มพีค" คือ "ราคาพีค"
กฎเหล็กข้อหนึ่งที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ยึดถือในการลงทุน นั่นคือ "วอลุ่มพีค" เท่ากับ "ราคาพีค" และอีกข้อ ถ้าหุ้นปรับฐาน "รีบาวนด์" แล้วแต่ไม่ทำ "นิวไฮ" ใหม่..."มันต้องลง" "ถามว่าแน่จริงยังไง ถึงไม่ขายหุ้น ปตท.ทั้งๆ ที่ราคาขึ้นมากว่า 190 บาท ทำไมต้องไปขายถูกที่ราคากว่า 170 บาท เพราะเราคิดว่ามันจะต้องขึ้นต่อ ขณะที่หุ้น ปตท.มันมีการปรับตัวลงมา 10-15% ผมอดใจรอ...ไม่ขาย นี่เคล็ดลับของผมคนเดียว"
วิชัยบอกว่า หุ้นมันต้องมีการปรับตัว ถูก "Profit Taking" หรือ ตัดเอากำไร ถ้าราคาปรับลงแล้ว "รีบาวนด์" ขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ได้ มันจะ "รัน" (วิ่งไกล) เราต้องเสี่ยง "วัดดวง" นี่มันเป็นพฤติกรรมของหุ้นขาขึ้น แทบทุกตัว แต่เมื่อไรก็ตาม ถ้าหุ้น "รีบาวนด์" แล้ว ไม่ทำ "นิวไฮ" ใหม่ ก็ต้องขายทิ้งออกไป หลักการของมันคือ ถ้าหุ้นตัวไหนก็ตาม ที่รีบาวนด์แล้ว แต่ไม่ทำนิวไฮใหม่ "มันต้องลง" แต่จุดมั่นใจ เราต้องดู "วอลุ่ม" ประกอบ "เวฟแรก" ที่หุ้น ปตท.ขึ้นไปกว่า 190 บาท มีวอลุ่มหนุน "สูงปรี๊ด" ช่วงปรับตัวลงมาวอลุ่มต่ำ "ไม่แปลก" ขณะที่หุ้นรีบาวนด์ขึ้นไป "เวฟสอง" วอลุ่มไม่สูงเท่าเวฟแรก หรือ วอลุ่มไม่ทำนิวไฮ "...ความหมาย คือ เวฟแรกถ้า "วอลุ่มพีค" แสดงว่า "ราคาพีค" ไปแล้ว ผมเป็นคนใช้เคล็ดลับนี้เป็นลำดับต้นๆ ของวงการ (เซียนหุ้น) กล้าพูดได้เลย" เสี่ยยักษ์ย้ำว่า คุณจำเอาไว้เลยนะ "วอลุ่มพีค" คือ "ราคาพีค" ท่องไว้เลย!!! แปลความหมายให้เข้าใจง่ายๆได้ว่า ถ้าวันไหนวอลุ่มการซื้อขายสามารถทำ "จุดสูงสุด" (วอลุ่มสูงมากๆจนผิดปกติ) ราคาหุ้นวันนั้นก็จะเป็น "จุดสูงสุด" ของรอบนั้นด้วย หรือถ้าหุ้นขึ้นต่อได้ ก็ไปได้อีกไม่ไกล...นี่ไม่ใช่ทุกกรณี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น ส่วน "เทคนิคการขายหุ้น" วิชัย อธิบายเคล็ดลับส่วนตัวไว้ว่า... "...เวลาที่จะขายหุ้นเกือบทุกครั้ง ผมจะต้องรอให้มันปรับตัว พอมันปรับตัวแล้วมีรีบาวนด์ ถ้ารีบาวนด์แล้วมีนิวไฮ ผม "รัน" (Let The Profit Run) ถือต่อ...ตอนหุ้นปตท.ขึ้นมาจากกว่า 70 บาท ราคามันขึ้นไป 110 บาทปรับตัวลงมาที่ 100 บาท แต่หลังจากนั้นมันก็ทำนิวไฮขึ้นไปต่อได้อีก แทนที่จะรีบขาย...ผมก็ถือต่อ" วิชัย อธิบายสูตรการเล่นหุ้นว่า คุณไม่มีทางรู้จุดสูงสุด และจุดต่ำสุดของมัน ขายเร็วเกินไปก็เสียโอกาส เพราะฉะนั้น "จุดขาย" คือ จุดกลับตัว เราจะรู้จุดกลับตัวก็ต้องรู้ว่ารีบาวนด์แล้วไม่ทำนิวไฮ ราคามันต้องปรับลง "ถ้าไปดูกราฟราคาหุ้นทุกตัว มันไม่มีหุ้นตัวไหนขึ้นไปตลอดทาง (ยกเว้นหุ้นปั่นแบบม้วนเดียวจบ) ระหว่างทางมันต้องปรับตัวลง เพื่อลดความร้อนแรงและสะสมพละกำลังใหม่ ถึงจะไปต่อได้ เราต้องคิดทุกอย่างให้เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วเราจะเข้าใจ"
เสี่ยยักษ์ อธิบายสไตล์การลงทุนของตัวเองต่อว่า "ผมจะล็อกล่าง" (กำหนดจุด Stop Loss) ไว้ตลอดเวลา ถ้าหุ้นตัวไหนซื้อเข้าพอร์ตไปปุ๊บ! แล้วมันเกิดลง ผมให้มันลงได้มากที่สุด 15% เกินจากนี้ "ผมทิ้ง" อาจจะต่างจากของเซียนหุ้นคนอื่น ถ้าซื้อไปแล้วหุ้นลง 2-5% เขาขาย หลักการตรงนี้จะต่างกัน "วิธีการเล่นหุ้นต่อ 1 รอบ จำไว้เลยนะว่า คุณต้องเตรียม "ขาดทุน" ไว้ 10% ของพอร์ตของคุณเสมอ...ผมกล้าพูดได้เลยว่า ต่อให้เป็นเซียน เป็นโคตรเซียนแค่ไหนก็ตาม คุณมี 100 ล้านคุณต้องเตรียมขาดทุนไว้ 10 ล้าน ไว้สำหรับ Cut Loss (ยอมขาดทุน) แน่นอนที่สุด...เชื่อผม!! "...ไม่งั้นคุณไม่สามารถไปรอขายถึงยอด (พีค) ของรอบได้หรอก เพราะในแต่ละยอดของหุ้นมันจะต้อง "ปรับตัว" นี่มันเป็นกฎธรรมชาติ" ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว วิชัยบอกว่า ขายหุ้น ปตท. ล็อตนี้ออกไปที่ราคาเฉลี่ยกว่า 170 บาท ช่วงที่หุ้นรีบาวนด์ขึ้นมา 182 บาทแล้วไม่ทำนิวไฮ "รอบนี้รอบเดียว ผมได้กำไร ปตท.กว่า 400 ล้านบาท...นี่ผมเล่าชีวิตจริงๆ ให้ฟังเลย ขายราคาเฉลี่ยกว่า 170 บาท แล้วมาซื้อกลับอีกทีที่ราคากว่า 140 บาท เชื่อผมเถอะ! จริงๆ ไม่มีเซียนหุ้นคนไหน ซื้อหุ้นต่ำสุด แล้วไปขายที่ราคาสุดยอดได้หรอก ถ้าผมทำได้ก็ต้องเปลี่ยนชื่อจาก "วิชัย" เป็น (เก่ง) "ปานเทพ" แล้ว ใครจะไปรู้ ไม่มีใครรู้หรอก พอรีบาวนด์แล้วไม่นิวไฮ...ผมก็ขาย นี่คือหลักการ" กรณีที่ราคาหุ้นถูกขายทำกำไรออกมา แล้วราคาปรับฐานลงมา โดยเฉพาะกรณีของหุ้น ปตท. สาเหตุที่วิชัยมาซื้อกลับที่ราคากว่า 140 บาท เขาให้เหตุผลว่า ที่กล้าซื้อเพราะพื้นฐานของ ปตท.ไม่ได้เปลี่ยนเลย ถึงราคาลงมาแต่ "กราฟรายเดือน" มันยังดีอยู่ "คนที่เล่นกราฟ เขาใช้ระดับ 15 นาที 20 นาที หรือ Day แต่จริงๆ ผมชอบใช้กราฟระดับ Month (อาทิเช่น MACD) คือ ผมจะเล่นรวย ผมไม่เล่นเอามัน ถ้ากราฟ MACD มันตัดลงมา เรารอให้มันบีบพร้อมที่จะตัดขึ้น ถึงวันนั้นเราค่อยมานั่งดูหุ้น นั่นคือการเล่นหุ้นเป็นรอบๆใหญ่" วิชัย กล่าวสรุป
ตอนที่ 14 หุ้นขึ้น วอลุ่มหาย
ระหว่างที่ "หุ้นขึ้น" อยู่ดีๆ แล้วมีแรงขาย "ทุบฮวบ" กดหุ้น "หล่น" ลงมา พร้อม "วอลุ่ม" ที่หนาแน่น เป็นการยืนยันว่าหุ้นตัวนั้น "หมดรอบ" แล้ว การทำศึกในตลาดหุ้น เรื่องของ "วอลุ่ม" ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรบ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ แนะนำเคล็ดลับในการดู "วอลุ่ม" เพิ่มเติมว่า ถ้า "หุ้นขึ้น" แล้ว "วอลุ่มหาย" ให้สงสัยไว้ก่อนว่า "มันกำลังจะวิ่ง" แต่ถ้าหุ้นเป็น "ขาลง" แล้ว "วอลุ่มหาย" นี่เป็นตามธรรมชาติ แต่ถ้าหุ้นเป็น "ขาขึ้น" แล้ว "วอลุ่มหาย" นี่มันผิดกฎธรรมชาติ "แสดงว่ามีรายใหญ่เก็บหุ้นตัวนี้อยู่ จำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาดมันหายไป อย่างนี้สัญญาณดี ต้องเข้าไปดูแล้วว่า หุ้นตัวนี้มันมีดีอะไร" เสี่ยยักษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความสัมพันธ์ของ "วอลุ่ม" กับ "ราคา" จะต้องดูควบคู่ไปพร้อมกับการอ่าน "แนวโน้ม" ของดัชนี SET ว่าจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางไหน
"ผมจะบอกสูตรสุดยอดของหุ้นให้ฟังนะ ถ้าเราอ่านว่าหุ้นตัวนี้กำลังเป็น "ขาขึ้น" แต่วอลุ่มมัน "หาย" (วอลุ่มเทรดลดลง) หมายความว่ารายใหญ่กำลัง "เก็บของ" ไม่ปล่อยหุ้นออกมาหมุนเวียนในตลาด สภาพคล่องของหุ้นตัวนั้นจะค่อยๆลดลง" ...ลองคิดต่อให้เป็นหลักการวิทยาศาสตร์ ถ้าคน "ดูดหุ้น" เข้าไปในกระเป๋าหมด นักเก็งกำไรไม่ได้เข้ามาเล่น (รอบ) ไม่ได้เอาหุ้นมาหมุนวนในตลาด ทุกคนดูดเก็บ!! ทุกคนดูดเก็บ!! ปริมาณหุ้นในตลาดก็จะหายไป "...เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปเจอ "หุ้นขึ้น วอลุ่มหาย" นี่คือสุดยอดหุ้น ใครหาพบคนนั้นรวย" วิชัยเน้นว่า เวลาเราอ่านกราฟและวอลุ่มประกอบกัน เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ให้มันเป็นหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ให้ได้ จะทำให้เราเข้าใจว่า ฝ่ายตรงข้ามเขากำลังคิดอะไรอยู่ มันจะทำให้เรารู้เท่าทัน ยกตัวอย่างเช่น หุ้นปตท.ขึ้นจาก 70 กว่าบาทขึ้นไปใกล้ๆ 100 บาท ทำไม! "นายวิชัย" ถึงไม่ยอมขาย ทั้งๆที่ได้กำไรเยอะแล้ว "ผมฟลุ้ครึเปล่า! ที่ไปขาย 170 กว่าบาท เพราะผมมองว่า "ซัพพลาย" (ปริมาณหุ้นหมุนเวียน) ในตลาดมันลดลง แต่ "ดีมานด์" (ความต้องการ) มันเพิ่มขึ้น เราอ่านออกว่า "รายใหญ่" กำลังเก็บของอยู่ ที่รู้ก็เพราะ "วอลุ่มมันหาย" ในระหว่างทางที่หุ้นกำลังวิ่งขึ้น" พูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆคำว่า "วอลุ่มหาย" หมายความว่า รายใหญ่อยู่ในช่วงสะสมหุ้น เก็บหุ้น "ใส่ปี๊บ" ไม่เอาหุ้นมาหมุนในตลาด แต่ถ้าเป็นกรณี "ตรงกันข้าม" สมมติว่า "หุ้นขึ้น" อยู่ดีๆ แล้วมีแรงขาย "ทุบฮวบ" กดให้ราคาหุ้น "หล่น" ลงมาพร้อม "วอลุ่ม" ที่หนาแน่น เป็นการยืนยันว่าหุ้นตัวนั้น "หมดรอบ" แล้ว คุณต้องขายทิ้ง ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าหุ้นตัวนั้นกำลังจะเปลี่ยนแนวโน้มเป็น "ขาลง"
นอกจากนี้วิชัยยังแนะนำด้วยว่า การเล่นหุ้นให้ได้กำไรก้อนใหญ่ ปีหนึ่งเราควรเล่นหุ้นแค่ 2 เดือน ก็รวยมหาศาลแล้ว ไม่จำเป็นต้องเล่น (เทรด) หุ้นทั้งปี แต่ถ้าอยากเล่นเป็นรายวัน ก็ให้คิดว่าเล่นเป็นค่ากับข้าว ไม่ใช่ทุ่มสุดตัว เพราะถ้าอยากจะรวยจริงๆ บอกได้เลยครับว่า...คุณต้องเล่นรอบใหญ่ เท่านั้น เชื่อผมเถอะ!!! "ในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นไม่ดี เป็น Bearlish Trend สำหรับตัวผมจะเหลือหุ้นอยู่ในพอร์ตน้อยมาก จะเล่นแค่สนุก เล่นเพื่อให้เราอยู่ในกระแส ระหว่างนี้ก็จะกลับมาศึกษาเยอะๆ แล้วพยายามหาหุ้นในดวงใจให้เจอ" เพราะถ้าอยากจะเล่นเกมให้ชนะ เราต้องศึกษา เราต้องรอบรู้ เราต้องมีเพื่อน เราต้องคอยอ่านความคิดคนอื่นว่าเขามองยังไง จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนวิธีการ "จับปลาใหญ่" เสี่ยยักษ์ชี้แนะว่า คุณต้องนิ่งๆ รอให้หุ้นลงต่ำๆ ค่อยเข้าไปเล่น ไม่ต้องกลัวว่าจะซื้อหุ้นไม่ได้ ถ้าคุณมีเงินเย็นอยู่ในกระเป๋าจะมีหุ้นดีๆ วิ่งมา "ชน" คุณเอง ส่วนใหญ่ของคนที่ "ติดหุ้น" เพราะถูกอารมณ์ของตลาดหุ้นพาไป (ขาดทุน) ชอบไปซื้อหุ้นตอนที่ตลาดใกล้วาย ลองกลับไปทบทวนดูว่าจริงมั้ย!
ตอนที่ 15 หยั่งกำลังหุ้น
การลงทุนแบบ "ทุ่มสุดตัว" ด้วยเงินทุนก้อนใหญ่ "ครั้งเดียว" ซึ่งหมายถึงการรบแบบ "แตกหัก" ในสถานการณ์ที่เชื่อมั่นมากเกินไป เป็นวิธีการลงทุนที่ผิดพลาดได้ง่าย อย่ารบในสงครามที่รู้ว่าเราต้องเป็น "ฝ่ายแพ้" อะไรก็ตามถ้ารู้ว่า "พลาด" ต้องถอยก่อน แสดงว่า..หนึ่ง สติปัญญาเราสู้เขาไม่ได้ สอง..แสดงว่าเราตาถั่ว
"เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ อธิบายว่า ถึงแม้ตัวเองจะมั่นใจมากกับหุ้น ปตท. แต่ใช่ว่าในสถานการณ์ที่เรามั่นใจ จะปลอดภัยเสมอไป "นิสัยผมถ้าอะไรที่ไม่แน่ใจเต็มร้อย ผมจะระมัดระวังตัว จะเข้าไปลงทุนด้วยเงินก้อนน้อยๆก่อน ยิ่งถ้าเป็นหุ้นเก็งกำไร จะเล่นเป็นรอบ จะไม่ทุ่มและจะไม่ถือยาว" สูตรที่เสี่ยยักษ์บอกว่าใช้เป็นประจำ ถ้ามั่นใจหุ้นตัวไหนมากๆ ก็ซื้อหุ้นตัวนั้นเก็บเอาไว้ครึ่งหนึ่งก่อน และเมื่อไรที่เห็นปริมาณการซื้อขายเข้ามามากๆ ก็จะรีบซื้อหุ้นอีกครึ่งหนึ่งทันที กลยุทธ์นี้ หมายถึงการ "หยั่งกำลังหุ้น" หรือการ "โยนหินถามทาง" การลงทุนครั้งแรก เราต้องเริ่มจากเงินก้อนเล็กก่อน ถ้าชนะค่อยสู้ต่อ ถ้าแพ้ก็ "เลิก" ถ้าเข้าไปแล้วมีกำไรส่วนหนึ่ง ก็จะเอากองหลังมาสู้เพิ่ม ถ้าพลาดท่าก็จะ Cut Loss ทิ้ง ยังเหลือกองหลังไว้พยุงตัว "ผมคิดอย่างนี้"
ส่วนวิธีการลงทุนที่ใช้กับหุ้นทั่วไป เสี่ยยักษ์อธิบายเพิ่มเติมว่า จะใช้วิธีการหยั่งเชิง (แย็บ) ดูก่อน..ก้อนแรกที่ส่งเข้าไปลุย อาจจะเข้าไปก่อน 20-30% ของเงินที่เราเตรียมเอาไว้ ถ้า "เจ็บ" ก็ถอยออกมาตั้งหลัก และสำหรับการลงทุนใหญ่ๆ จะเลือกหุ้นเล่น แค่ครั้งละ 1 ตัว เท่านั้น หรือแม้แต่หุ้น ปตท.ที่ตั้งใจจะเล่น "รอบใหญ่" แต่เสี่ยยักษ์จะมีการ "แบ่งหุ้น" ออกมาเล่นรอบด้วยเหมือนกัน "ผมก็เหมือนนักลงทุนทั่วไป คือ เอาส่วนหนึ่งของหุ้น ปตท.จากก้อนใหญ่ แบ่งออกมาเล่นรอบ ประมาณ 1-2 แสนหุ้น ไหนๆ ราคามันมาแล้ว เราก็เล่นสักหน่อย" "การเล่นรอบ" ด้วยการแบ่งหุ้นจำนวนน้อยออกมาเล่น มีข้อดีตรงที่ว่า ช่วยให้เราต้อง "เกาะติด" หุ้นตัวนั้น ไม่ให้ห่างสายตา "ทำให้ผมต้องมองมันตลอดเวลา..คิดมันทุกเวลา การที่เราเอา 1-2 แสนหุ้น แบ่งมาเทรด (ซื้อๆขายๆ) บอกได้เลยว่ามันยาก เพราะเวลาเราขาย เราก็อยากให้มันลงมาก่อน พอมันลง ก็อยากให้ลงไปอีก พอราคาขึ้นมาใกล้ๆทุนเดิม ตอนนั้นยังไม่ซื้อ พฤติกรรมของนักเล่นหุ้นจะมาซื้อคืนตอนเฉี่ยวๆ ทุน บางทีขายเสร็จ ต้องไปซื้อแพงเป็นประจำ" บทเรียนตรงนี้ สุดท้ายคนที่เล่นหุ้นแล้วได้กำไรเยอะๆ เล่นแล้วรวยต้อง "ถือยาว" ในระยะเดือน (ไม่ใช่การซื้อๆ ขายๆ ด้วยหวังกำไรเพียงเล็กน้อย) และวิธีการซื้อจะต้องใช้วิธี "หยั่งกำลังหุ้น" ลงทุนด้วยเงินจำนวนที่ไม่มากก่อน "วิธีการซื้อหุ้นที่ดี เราอย่าเพิ่งทุ่มก้อนใหญ่ ค่อยๆ หย่อนลงไป ลงแล้วชนะ (ทัพหลวง) ค่อยตามลงไป" เสี่ยยักษ์ย้ำว่ากลยุทธ์นี้ใช้ได้ผลดีมาตลอด
ถ้าขาดทุนจะทำอย่างไร ..เสี่ยยักษ์บอกว่า โดยปกติการลงทุนของตนเอง จะไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องลงทุนครั้งละเท่าไร หรือแบ่งเงินยังไง การลงทุนที่ดีจะต้อง "ยืดหยุ่น" ตามสถานการณ์ "แต่ถ้าเริ่มต้นเข้าไปปั๊บ!..ผมโดนเลย (หุ้นตกฮวบ) ก็เลิก" เซียนหุ้นพันล้านเน้นย้ำว่า อย่ารบในสงครามที่รู้ว่าเราต้องเป็น "ฝ่ายแพ้" อะไรก็ตามถ้ารู้ว่า "พลาด" ต้องถอยก่อน แสดงว่า..หนึ่ง สติปัญญาเราสู้เขาไม่ได้ สอง..แสดงว่าเราตาถั่ว มองอะไรไม่เห็น หรือมองไม่ชัด เสี่ยยักษ์บอกว่า ในภาวะที่เราอ่านตลาด (ทิศทาง SET) ไม่ออก หลักการสำคัญต้องดูเรื่อง "สภาพคล่อง" ในกระเป๋าของเราเป็นอันดับแรก "บางช่วงผมอาจจะมีหุ้นอยู่ในพอร์ต 3-4 ตัว ถ้าสภาพคล่องเริ่มต่ำลง ถึงจุดที่เราตั้งไว้ผมจะล้างพอร์ต เหมาขายหุ้นทิ้งทั้งหมด จะไม่มีแบบว่าเก็บตัวที่ขาดทุนเอาไว้ ขายออกเฉพาะตัวที่มีกำไร ภาวะนั้น..ผมจะถือเงินสดอย่างเดียว"
นั่นหมายความว่า..เมื่อไรก็ตามที่เราประเมินไม่ออกว่าทางข้างหน้าจะดีหรือร้าย เราต้องออกมาตั้งหลักใหม่.."อย่าฝืนสู้" เพราะเราจะตาถั่ว เพราะบางช่วงของคนเรา คุณชนะไม่ได้ทุกครั้ง ถ้าเราพลาดก็ต้องยอมรับว่าพลาด ต้องถอยก่อน แสดงว่าช่วงนั้นเราสู้เขาไม่ได้จริงๆ ต้องออกมาดูอยู่วงนอก ส่วนการ "ถอย" ในจังหวะที่เราอยู่ในสถานการณ์ "เพลี่ยงพล้ำ" เขาบอกว่า ประโยชน์ของมันก็คือ เพื่อทำให้ตัวเรา "สด" ก่อนกลับเข้าไปสู้ใหม่ ไม่ใช่ว่าจะต้องสู้จนตายกันไปข้างหนึ่ง วิธีการเล่นหุ้นอย่างงั้น "มันผิด" "มีคนมาถามผมว่าติดหุ้นอยู่ตั้งหลายตัวจะทำอย่างไรดี ผมแนะนำเขาไปว่า หุ้นตัวไหนที่ไม่มีอนาคต คุณต้องตัดทิ้งไปให้หมด แล้วคุณต้องเหลือ "เงินสด" เอาไว้สู้ต่อ ช่วงไหนที่ตลาดบวก (Bullish Trend) เราค่อยสู้ใหม่ อัดเข้าไปให้เต็มพอร์ตเลย เป็นทางเดียวที่คุณมีโอกาสจะได้ทุนคืน"
ทั้งนี้ ในยุทธศาสตร์การรบ "การติดหุ้น" เท่ากับเป็นการสลายกำลัง คุณติดหุ้น 60% เหลือเงิน 40% ถึงตลาดดีก็ไม่มีเงินมาสู้ใหม่..เมื่อไรถึงจะได้ทุนคืน มันเป็นไปได้ยาก คนที่พอร์ตจะขยายใหญ่ได้.."ช่วงที่หุ้นขึ้น คุณต้องมีเงินซื้อหุ้น" "เพราะฉะนั้น ถ้าช่วงไหนที่ตลาดไม่ดี หลักการคือคุณต้องถือเงินสดไว้ให้มากที่สุด" เสี่ยยักษ์ กล่าวสรุปปิดท้าย
ตอนที่ 16 Sell on Fact
ในชีวิตการลงทุนของ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ผ่านประสบการณ์ "เจ็บๆ" มานับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะค้นพบหนทางแห่งความสำเร็จด้วยตัวเอง ทำให้เสี่ยยักษ์เชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือคุณไม่ได้หรอก ตัวคุณเท่านั้นที่ต้องช่วยตัวเอง คำว่า "ข่าวลือ" คุณต้องแอบพูดในที่ "ลับ" ถ้ามากระจายให้มหาชนรับรู้...มาบอกนักข่าว แสดงว่า "จบรอบ" แล้ว...คุณต้องทิ้ง
"...โชคชะตาจะเลือกช่วยเหลือเฉพาะคนที่มีความพยายาม(มากกว่า)เท่านั้น" เสี่ยยักษ์ เชื่อเช่นนั้น
"ผมจำได้ว่า ตอนที่หุ้นกำลังเริ่มขึ้น ช่วงปี 2536 ก่อนดัชนี SET จะขึ้นไป 1,789 จุด (ต้นปี 2537) ตอนนั้นผมมีเงินอยู่ 15 ล้านบาท ช่วงนั้นขับรถผ่านวัดหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็อธิษฐานว่าถ้าหากผมหาเงินได้ 35 ล้านบาท จะถวายเงินให้วัด 3 แสนห้า ไม่ถึงปีผมมีเงิน 35 ล้านบาท จริงๆ" แต่ช้าก่อน นี่ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ เพราะตอนอธิษฐานเสี่ยยักษ์ ไม่ได้บอกให้หลวงพ่อปานช่วยเหลือ (แบบทางลัด) แต่เขาบอกท่านว่า "...ถ้าผมชนะก็ให้ชนะด้วยฝีมือของตัวเอง ผมปวารณาตัวเองว่า ถ้าทำได้ ผมจะถวายเงินวัด" เสี่ยยักษ์มีทัศนคติว่า คนที่ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอนั่นขอนี่ นั่นคือ การฝึกให้เราเป็นคอร์รัปชัน การที่คุณเอาหัวหมูไปไหว้แล้วขอให้มีเงินร้อยล้าน พันล้าน คิดว่าไม่ใช่วิธีที่จะทำให้ใครร่ำรวยได้ "นักลงทุนรายใหญ่ เท่าที่รู้จักหลายคน เขาไม่เชื่อเรื่องพวกนี้"
จากนั้นเสี่ยยักษ์ก็เล่าหนังถึงเรื่องหนึ่งที่ตัวเองชอบมากที่สุดคือ เรื่อง "Bruce AL MIGHTY" (นำแสดงโดยดาราตลก "จิม แคร์รี่" ในบท "บรูซ โนแลน" นักข่าวโทรทัศน์ ที่ถูกไล่ออกจากงานและท้าทายต่อพระเจ้า จนพระองค์มอบพลังอำนาจพิเศษให้เป็นเวลา 7 วัน) เขาได้เป็นเทวดา 7 วัน เพราะเขาโทษเทวดาว่าเทวดาไม่ช่วยเขา เทวดาก็เลยให้เขาเป็นเทวดาเสียเลย แต่เมื่อคนเรายิ่งมีอำนาจมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งจะคิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง และเมื่อได้พบปาฏิหาริย์ก็หลงละเลิง แท้จริงแล้วปาฏิหาริย์ที่แท้จริงก็คือ การทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุดต่างหาก บทสรุปของเรื่องนี้ คนเราจะประสบความสำเร็จ คุณต้องช่วยเหลือตัวเองและในที่สุด "บรูซ โนแลน" ก็ค้นพบสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขานั่นคือ "ทำสิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้ดีที่สุด" เสี่ยยักษ์เชื่อว่า คนที่เล่นหุ้นแล้วได้กำไร เพราะเขาคิดด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การปักใจเชื่อแบบงมงาย แต่ไม่ปฏิเสธว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมีจริง แต่ไม่สามารถดลบันดาลให้คุณดีขึ้นได้ ถ้าคุณไม่ค้นหาด้วยตัวคุณเอง
เซียนหุ้นรายนี้ ยังย้ำความคิดเดิมว่า ถ้าจะเล่นหุ้นให้รวยจริงๆแล้ว ต้องเล่น "รอบใหญ่" อย่างเดียว ถ้าเล่นเอาค่ากับข้าว ก็ซื้อๆ ขายๆ เชื่อผมเถอะ! "ไม่รวยหรอก"
"จากประสบการณ์ของผม คนที่รวยหุ้นมากๆ ต้องมีหุ้นเด็ด ถือยาวและกำไรหนัก ต้องหาหุ้นอย่างนี้ให้เจอ" เมื่อเป็นต้นไม้ใหญ่ในวงการ ก็มักจะมี "เจ้าของหุ้น" เข้ามาหา เสี่ยยักษ์ ยอมรับว่าเคยมีมาขอให้ช่วยดูแลหุ้นให้ แต่จะบอกเจ้าของหุ้นไปว่า ถ้าคุณทำผลงานของคุณให้ดีๆแล้ว คนทั้งตลาดก็จะช่วยคุณเอง ...การที่เราจะไปจัดการหุ้นให้กับใคร หรือเป็น "มาร์เก็ตเมคเกอร์" ให้ใคร คุณต้องขายหุ้นให้คนอื่น คุณถึงจะรวย แล้วขายให้ใคร...ในเมื่อวงที่เล่นกันมันไม่ใหญ่ สุดท้ายคุณก็ต้องขายหุ้นให้คนรอบๆข้าง (ก๊วน)คุณเอง ภาษาเหนือ เขาบอกว่า "จูงหมาน้อยขึ้นดอย" คุณรวยเพื่อนคุณตาย คุณจะมีความสุขได้ยังไง "ในมุมมองของผม เล่นหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานดีกว่า เราเล่นหุ้นมวลชน ได้-เสียไม่ต่อว่ากัน" ก่อนจะบอกว่า ที่ผ่านมาเห็นมาเยอะ ที่จับมือเป็นพันธมิตรกัน สุดท้ายก็ทะเลาะกัน หุ้นหลายตัวในชีวิต เสียเพื่อนกันไปก็เยอะ "...เวลาขายหุ้น ผมจะขายหนัก สมมติว่ามี Bid (เสนอซื้อ) 3 ช่อง ถ้าผมอยากจะออก ผมทิ้งช่อง Bid หมด 3 ช่องเลย ยกตัวอย่างหุ้น TPI (ปัจจุบัน คือ IRPC) ผมเคยขายทีเดียว 60-70 ล้านหุ้น จนคนในวงการบอกว่า ผมเล่นหนัก ทุกคนจะรู้ว่าถ้ามี Bid เยอะๆ แล้วผมไม่สบายใจ ผมออกไปเลย 3 ช่อง หลบกันแทบไม่ทัน"
นอกจากนี้ เสี่ยยักษ์ก็เคยโดนเจ้าของหุ้น "หลอก" มาแล้ว ประมาณว่า "แง้มข่าวดี" ให้เข้าไปซื้อ แต่ตัวเองแอบเทขายหุ้นออกมาให้ก็มี ซึ่งในวงการนี้จะมีการ "ขี่กัน" เล็กๆน้อยๆ
"เรื่องข่าวลือ หรือ ข่าวอินไซด์ ผมฟัง...แต่ไม่ได้เชื่อ คนที่อยู่ในวงการระดับ 10-20 ปี คิดว่าไม่มีใครเชื่อ ถ้ามีหุ้นตัวนั้นอยู่จะขายออกไปด้วยซ้ำ เพราะคำว่า "ข่าวลือ" คุณต้องแอบพูดในที่ลับ ถ้ามากระจายให้มหาชนรับรู้...มาบอกนักข่าว แสดงว่า "จบรอบ" แล้ว...คุณต้องทิ้ง" เสี่ยยักษ์ สรุปหลักการ "ขายหุ้น" กรณีที่มี "ข่าวลือ" หลุดออกมาก่อนว่า เราต้อง "Sell on Fact" (ขายเมื่อมีข่าวจริง) หรือ "Sell on Good News" (ขายเมื่อมีข่าวดีกระจายไปทั่ว) กฎข้อนี้ยังใช้ได้ดีในตลาดหุ้น เพราะพวกที่ปล่อยข่าว กำหนดราคาเป้าหมายได้ พวกนี้ต้อง "เสือ" เท่านั้นถึงจะทำได้
ตอนที่ 17 หุ้นเรียกแขก
เชิญครับ! เชิญ..เชิญมารวย!!! ด้วยกันคร้าบบ..พี่น้อง ในตลาดหุ้นมักจะมี "หุ้นปั่น" สลับกันขึ้นมาหวือหวา ซึ่งหุ้นประเภทนี้ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เตือนว่า หุ้นพวกนี้อันตรายที่สุด เวลาเจ้ามือ "ทิ้ง" มันลงไปถึงก้นเหวได้ง่ายๆ "จะเล่นหุ้นปั่นจะต้องซื้อน้อยๆ เกาะตู้เย็น หาค่ากับข้าวได้ แต่อย่าไปเล่นแรง อย่าไปทุ่ม เดี๋ยวเจ้ามือมันจะโยนหุ้นให้เรา" ...ในวงการหุ้น เขาจะเรียกหุ้นประเภทนี้ว่า “หุ้นเรียกแขก” เซียนหุ้นรายนี้อธิบายว่า โดยส่วนตัวไม่ชอบเล่น แต่ก็พอรู้ว่าหุ้นตัวไหนมีเจ้ามือดูแลอยู่ ถ้าเราไปขวางทางเขา เขาก็ต้องสะบัดเราหลุด พร้อมทั้งบอกเกร็ดความรู้ให้ฟังด้วยว่า...
"จะเล่นหุ้นพวกนี้ (หุ้นปั่น) จะต้องซื้อน้อยๆ เกาะตู้เย็น หาค่ากับข้าวได้ แต่อย่าไปเล่นแรง อย่าไปทุ่ม เดี๋ยวเจ้ามือมันจะโยนหุ้นให้เรา" ข้อสังเกตของหุ้นปั่น หนึ่ง..ต้องมี "เจ้ามือ" (กลุ่มก๊วนคอยทำราคา) สอง..ผู้ถือหุ้นใหญ่ มักจะรู้เห็นเป็นใจด้วย ในลักษณะช่วยกันออกข่าวดี (ในหลายกรณี ผู้ถือหุ้นใหญ่มักจะโอนหุ้นบางส่วนไปไว้ในพอร์ต "นอมินี" หรือให้ตัวแทนเข้าไปเก็บหุ้น ก่อนจะมีการทำราคา)
เสี่ยยักษ์ให้ความกระจ่างว่า เขาจะดูด "ซัพพลาย" (ปริมาณหุ้นหมุนเวียน) ออกไปให้มากที่สุด จากนั้นหุ้นจะวิ่ง..พักนิดหนึ่ง..แล้วก็วิ่งต่อ ระหว่างที่หุ้นวิ่งแรงๆ เจ้ามือจะรอกินเราอยู่ ถ้าราคายังไม่ถึงเป้าหมาย เขาก็ประคองราคาเอาไว้ จนมี "เหยื่อ" กลุ่มใหญ่เข้ามา แต่หุ้นพวกนี้ สุดท้ายแล้ว "เสือ" จะกิน "เนื้อเสือ" คือ กินพวกเดียวกันเองด้วย นอกจากนี้ เสี่ยยักษ์ยังตอบข้อสังเกตด้วยว่า ทำไม! หุ้นไอพีโอ (IPO) หลายตัว พอเข้าตลาดมาใหม่ๆ หุ้นมักจะถูก "ทุบ" ลงไปก่อน แล้วค่อย "ลาก" ขึ้นมาทีหลัง "ผมคิดว่าเจ้าของหุ้น (ผู้ถือหุ้นใหญ่) เป็นคนปล่อยหุ้นออกมาเอง แล้วค่อยไปรอเก็บราคาต่ำ "เพื่อลดต้นทุน" แล้วเล่นรอบขึ้นมาใหม่ ผิดกับสมัยก่อน ซื้อหุ้นไอพีโอจะได้กำไรมหาศาล เพราะเจ้าของหุ้นไม่เอาหุ้นมาหมุนในตลาดเยอะเหมือนสมัยนี้" เสี่ยยักษ์ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทไหนที่เจ้าของหุ้นลงมาเล่นหุ้นตัวเอง (โดยปกติมักจะเล่นหุ้นผ่านนอมินี) สุดท้ายมักจะ "เจ๊ง" เพราะหุ้นตัวนั้นจะขาดความน่าเชื่อถือ นอกเหนือจาก "หุ้นเรียกแขก" ที่ไม่ควรเข้าไปแตะต้องแล้ว ยังมีหุ้นอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ควรเล่น คือ หุ้นที่เจ้าของบริษัทมี "ไอคิว" (Intelligence Quotient) เหนือกว่าเรามาก ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกลุ่มซีพี (เครือเจริญโภคภัณฑ์) "ผมเคยอ่านจากข่าวว่า ท่านเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เคยพูดออกมาคำหนึ่งว่า...สิ่งที่ทำผิดพลาดที่สุดในชีวิต คือ ไม่ยอมขายหุ้นเทเลคอมเอเซีย (ปัจจุบันคือ TRUE) ที่ราคา 70 กว่าบาท ถามหน่อยว่า มีใครรวยหุ้นซีพีบ้าง! เพราะไอคิวเราสู้เขาไม่ได้ พอท่านเผยความคิดนี้ออกมา จะเล่นหุ้นกลุ่มนี้ก็ต้องระวังตัว" เสี่ยยักษ์ย้ำว่า ถ้าเราไปเจอบริษัทไหนก็ตามที่เรารู้สึกว่า ไอคิวเราสู้เจ้าของบริษัทไม่ได้ ถ้าใครเจอหุ้นแบบนี้ ชีวิตนี้อย่าไปแตะต้อง เพราะคุณจะไม่มีทางรวย แล้วลักษณะของหุ้นแบบไหนที่ซื้อแล้ว มีโอกาส "ฟลุ้ค" แจ๊คพอตแตก “หุ้นที่จะฟลุ้ค ต้องเป็นหุ้นประเภท "คอมมูนิตี้" (สินค้าโภคภัณฑ์) เช่น น้ำมัน ปิโตรเคมี เดินเรือ ฯลฯ ซึ่งหุ้นประเภทนี้จะมีไซเคิลของมัน วันหนึ่งที่ถึงไซเคิลของมัน (ช่วงเทิร์นอะราวด์) มีโอกาสรวยได้ง่ายๆ แต่คุณต้องรู้ว่าไซเคิลของธุรกิจอะไรที่กำลังจะมา" ...และจังหวะซื้อ จะต้องเป็นรอยต่อของช่วง "ตกต่ำ" (Depression) มาสู่ช่วง "ฟื้นตัวใหม่" (Revival) ซื้อแล้ว "ถือ" ทั้งนี้วัฏจักรธุรกิจจะแบ่งออกเป็น 5 ช่วง คือ 1.ขยายตัว (Expansion) 2.รุ่งเรือง (Boom) 3.ถดถอย (Recession) 4.ตกต่ำ (Depression) และ 5.ฟื้นตัวใหม่ (Revival) หลังจากหุ้น ปตท.ที่เสี่ยยักษ์ได้กำไรจำนวนมากแล้ว หุ้นอีกตัวที่น่าจดจำคือ หุ้น TPI (ปัจจุบัน คือ IRPC) "หลังจากหุ้น ปตท.ผมก็มาเจอหุ้นในดวงใจอีกตัว คือหุ้น TPI ประมาณปลายปี 2548 ตอนนั้นราคา 10 บาทกว่า ยังไม่เพิ่มทุน 1 ต่อ 2 ที่ราคา 3.30 บาท ก่อนหน้านั้น กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ไปคุยกับอดีตผู้บริหาร แน่ใจว่า ปตท.จะเป็นแกนดึงพันธมิตร (กบข.-วายุภักษ์-ธ.ออมสิน) เข้ามาเพิ่มทุน ที่ราคา 3.30 บาท ...ผมก็บอกว่า โอ้ย! หุ้นอย่างนี้ดีซิ! มันกำลังจะเปลี่ยนโครงสร้าง ทำอะไรใหม่ เราไม่ต้องกลัว เพราะหลังเพิ่มทุนเสร็จ ต้นทุนเราเฉลี่ยประมาณ 5 บาทกว่า เขา (กลุ่มปตท.) ลงทุนตั้งหลายหมื่นล้านบาท ของเราลงทุนแค่นิดเดียว จะไปกลัวมันทำไม!" ช่วงที่ราคาหุ้น TPI แถวๆ 10 บาทกว่า เสี่ยยักษ์ก็ทยอยซื้อเข้าพอร์ต หลังจากนั้นราคามันวิ่งขึ้นไป 18 บาท พอกลุ่มปตท.กำลังจะเข้ามา (ขึ้น XR วันที่ 14 พ.ย.2548) กลุ่มประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ก็ฟ้องศาลคัดค้าน ราคาก็หล่นลงมาเหลือ 15-16 บาท "ช่วงราคาทรุดลง..ผมก็จะแย่ แต่พอศาลตัดสินว่าคุณประชัยแพ้ กลุ่มปตท.เพิ่มทุนได้ ช่วงต้นปี 2549 ราคาหลังเพิ่มทุนขึ้นไปสูงสุด 8.95 บาท ตอนนั้นผมถือหุ้น TPI อยู่กว่า 100 ล้านหุ้น มูลค่าลงทุนตัวเดียว 1,000 ล้านบาท ชอตนี้..ผมก็ได้กำไรเยอะ" เสี่ยยักษ์สรุปปิดท้ายว่า โดยส่วนตัว เวลาที่จะลงทุนหุ้นตัวไหนหนักๆ จะต้องทำการบ้านอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญของหุ้น ต้องรู้ให้ลึก รู้ให้จริง "ยกตัวอย่าง ตอนที่ผมจะซื้อหุ้น TPI ผมจะเก็บข้อมูลทุกอย่างของหุ้นตัวนี้ให้หมด ตั้งแต่ลูกหุ้นเข้าวันไหน ขาดทุนน้ำมันเท่าไร กำไรอัตราแลกเปลี่ยนเท่าไร ราคาเม็ดพลาสติกตอนนี้เป็นอย่างไร พื้นฐานพวกนี้ผมจะตัดข้อมูลเก็บเอาไว้หมด" นี่ไง! เคล็ดไม่ลับแห่งความสำเร็จของ "เซียน" ที่ชื่อ "วิชัย วชิรพงศ์"
ตอนที่ 18 สัญญาณ "ลงแรง"
กรณีที่หุ้นจะ "ปรับตัวแรง" วอลุ่มมักจะ "พีค" ก่อน ให้สังเกตว่ารายย่อยจะแห่เข้าใส่แบบไม่ลืมหูลืมตา เวลาที่หุ้นปรับตัวมันจะ "ลงแรง" สูตรการเล่นหุ้น ใน"มุมมอง"ของนักลงทุนรายใหญ่ มักจะ"มอง"แตกต่างไปจาก"มุม"ของนักลงทุนรายย่อย เพราะเหตุใด ?
ประเด็นนี้ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ อธิบายว่า ในบางตำรา...สูตรการเล่นหุ้นมักจะบอกว่า "ลงให้ซื้อ...ขึ้นให้ขาย" แต่วิธีคิดแบบนี้ใช้ไม่ได้ทุกครั้ง ยกตัวอย่างช่วงที่ดัชนี SET ขึ้นไป 1,789 จุด (ต้นปี 2537) หลังจากนั้น มันลงทีเดียวถึง "นรก" เลย (ลงมาปิดต่ำสุด 207 จุด เมื่อเดือนกันยายน 2541) คนที่ผ่านจุดอันตรายที่สุดมาแล้ว เขาจะไม่คิดแบบนี้ เพราะ "ลูกยังเล็ก" อันตราย !! ...เขาจะคิดตรงกันข้ามว่า "ลงให้ขาย" (Cut Loss) "ขึ้นให้ซื้อ" (Follow the Trend) ซึ่งเป็นวิธีที่ "ลดความเสี่ยง" ได้ดีที่สุด เสี่ยยักษ์ ยังบอกเทคนิคด้วยว่า เราจะอ่านเกมได้อย่างไร กรณีที่หุ้นปรับฐานแล้วจะ "ลงแรง" หรือ "ไม่แรง" "สัญญาณขาย" หรือ Sell Signal ตามหลักดีมานด์และซัพพลาย ก็คือ ในกรณีที่หุ้นจะลง "ไม่แรง" นั้น รายย่อยจะยัง "ไม่เข้า" เมื่อหุ้นปรับฐานแล้ว มีโอกาสไปต่อ "สูง" กรณีที่หุ้นจะ "ปรับตัวแรง" ให้สังเกต "วอลุ่ม" มักจะทำ "พีค" ก่อน แสดงว่า...รายย่อยแห่เข้าใส่แล้ว ยิ่งซื้อแบบไม่ลืมหูลืมตา (กลัวตกรถไฟขบวนสุดท้าย) เวลาที่หุ้นปรับตัว จะ "ลงแรง" และ "ลงหนัก"
นอกจากนี้ ยังสามารถนำแนวคิดนี้ ไปใช้อ่านดัชนี SET ได้ด้วย ให้สังเกตว่า ถ้าดัชนี SET กำลังปรับตัวขึ้น ยืนนิดหนึ่ง แล้วขึ้นต่อ...ยืนนิดหนึ่ง แล้วขึ้นต่อ แสดงว่า รายย่อยยังไม่ (กล้า) เข้า SET จะลงไม่แรง เพราะ "จุดมั่นใจ" ยังไม่เกิด "...จำเอาไว้ว่า "จุดมั่นใจที่สุด คือ จุดอันตรายที่สุด" ถ้ายังไม่มีจุดมั่นใจ คนเล่นหุ้นจะไม่กล้าทุ่ม แต่เมื่อไรที่ฮึกเหิมสุดๆ เมื่อนั้นแหละ...อันตรายที่สุด" นี่คือ สุดยอดของเคล็ดวิชาอีกข้อหนึ่งที่เสี่ยยักษ์ เน้นย้ำ !
เทคนิค ในการ "อ่าน" ทิศทางของ ดัชนี SET "แบบวันต่อวัน" (เพื่อวัตถุประสงค์การเล่นเก็งกำไรระยะสั้น) ให้สังเกต "หุ้นค้ำตลาด" ตัวแข็งๆ ในแต่ละวัน ซึ่งมักจะหมายถึง หุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ ที่เป็น "หัวโจก" ของวัน เช่น PTT, BBL-F ฯลฯ
"ต้องดูว่า ฝรั่งหรือกองทุน จะ "เล่นขึ้น" หรือ "เล่นลง" ให้สังเกตวอลุ่ม และวิธีการตั้งซื้อ ตั้งขาย ยกตัวอย่าง วันนี้ ตัวค้ำเป็น BBL-F ราคา 119 บาท เขียวอยู่ดีๆ เผลอแปลบเดียว กลับมาแดง แล้วเราต้องไปดู หุ้นตัวใหญ่ๆ (ตัวอื่น) เริ่มถูกเทขายออกมาหรือยัง เช่น PTTEP, TOP จากนั้นเราก็ต้องไปเช็คราคาน้ำมันดิบ ถ้าราคาน้ำมันลง แสดงว่าวันนี้น่าจะมีการปรับฐาน วิธีการอ่านก็ประมาณนี้
...สมมติ BBL-F ตัวค้ำตลาดลง PTTEP ราคา 98 บาท ลงด้วย มีคนตั้งขาย 200 หุ้น ที่ราคา 97.50 บาท เขาพยายามจะชี้นำให้ ดัชนี SET พุ่งลง ทั้งๆ ที่ดูกราฟแล้ว ดัชนี SET น่าจะมีการรีบาวนด์ กราฟมันเริ่มตัดขึ้น แต่มีคนเคาะขายตัวใหญ่ให้ลง ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ หนึ่ง...อยากให้ ดัชนี SET ลงเลย กับ สอง...เพื่อเขาจะซื้อ "เก็บ" ได้ในราคาต่ำ เราต้องประเมินเจตนาให้ออก"
เสี่ยยักษ์ บอกว่า มันมีคนกลุ่มหนึ่งที่จ้องขาย 100 หุ้น 200 หุ้น ในหุ้นที่มีทุนจดทะเบียนใหญ่ๆ เพื่อให้กราฟพุ่งลงมา จากที่กราฟกำลังจะตัดขึ้น จะมีคนพยายามกดมันไว้ เราต้องประเมินดูว่าที่เขาทำอย่างนี้ เขาตั้งใจจะเก็บ(หุ้น)ของหรือไม่
หรืออย่างกรณีของหุ้น PTT วันก่อนมีปริมาณซื้อขาย 11 ล้านหุ้น ราคาอยู่ที่ 210 บาท อีกวันวอลุ่มลงมาเหลือ 7.8 ล้านหุ้น ราคาขึ้นไป 214 บาท แล้ววันนี้วอลุ่มหายเหลือ 2-3 ล้านหุ้น แล้วราคายังยืนได้ 212-214 บาท สัญญาณอย่างนี้ "ถือว่าดี" แสดงว่า มีการเก็บของในลักษณะ "เก็บออกไปเลย" ไม่ได้เอากลับมาหมุนในตลาด ซึ่งมันต่างกับหุ้นบางตัว พอลากราคาขึ้นไปปุ๊บ! ทุกคนแห่ขาย "หุ้นตก...วอลุ่มมาเพียบ" เจออย่างนี้ก็ต้อง "ถอย"
เสี่ยยักษ์ ยังยกตัวอย่างถึงกรณีของหุ้น IRPC สมมติ มีคนเทขายกดลงมาไม้ใหญ่ๆ ที่ราคา 6.10 บาท แล้วในวินาทีเดียวกัน (ทันทีเลย) มีคนมารับต่อทันที 1 ล้านหุ้น โดยข้อเท็จจริงแล้วถ้าหุ้นมันจะลง จะต้องไม่มีรายใหญ่คนไหนกล้าเข้ามารับ ต้องไม่มีใครกล้าสวน
ละครฉากต่อมา มีคนแกล้งทำให้ลบ เคาะขายออกมา 500 หุ้น ที่ราคา 6.05 บาท แต่คนซื้อใหญ่กว่าทำให้ราคาเบ่งขึ้นมาได้ แสดงว่าฐานราคาตรง 6.10 บาท "แข็งแรง" หุ้นก็จะดูดี ราคาตรงจุดนี้เราอาจจะลงทุนระยะสั้นได้ "...นี่คือ "วิชาสังเกต" ที่เราต้องนั่งดูทุกวัน รับรองว่าไม่มีสอนในตำรา" เสี่ยยักษ์ สรุปบทเรียนจากวิชาสังเกต ให้ฟังว่า ถ้าหุ้นตัวไหน สวนทาง ดัชนี SET ของวันได้ แสดงว่า "ดี" หุ้นตัวนั้นต้องมีคนดูแล เช่น ถ้าดัชนี SET "ลง" แต่ราคาหุ้นตัวนี้มันยังยืนได้ แสดงว่าแข็งกว่าตลาด...มันสู้! เล่นสั้นได้
นอกจากนี้ ดัชนี SET ที่แข็งแกร่ง เวลาขาขึ้น จะต้องมีการปรับฐานเป็นระยะๆ ไม่ใช่ขึ้นพรวดเดียว สมมติขึ้นไปแล้ว 15 จุด อีกวันยืน วันต่อมาปรับตัวลงนิดหน่อย อย่างนี้จึงจะถือว่า...โอเค ! เป็นต้น
ตอนที่ 19 Bid และ Offer
"ในช่วงของการสะสมหุ้น ถ้าเป็น "หุ้นดี" ให้สังเกตฝั่ง Bid จะน้อย แต่ฝั่ง Offer จะเยอะ ภาวะอย่างนี้ คือ ช่วงที่ดัชนี SET ประมาณ ตี 4 ตี 5 คนยังเล่นหุ้นไม่เต็มตัว เขาจะรอรับ แต่จะไม่ไล่ราคา"
สำหรับการลงทุนระยะสั้น การทำความเข้าใจกับ "แนวรับ" หรือ แนว Support และ "แนวต้าน" หรือ แนว Resistance นั้น นับว่ามีความสำคัญอยู่ไม่น้อย
"เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ถ้าราคาหุ้นช่วงไหนที่ทุกคนซื้อขาย "นัวเนีย" อยู่แถวนี้ "แน่น" มาก และนานพอสมควร ถ้าจะฝ่าราคาตรงนี้ขึ้นไปได้ ต้องใช้เงินมาก ยกตัวอย่าง คนที่ติด BLAND-W1 ที่ 0.21 บาท (ขณะที่สัมภาษณ์) เริ่มอึดอัดแล้ว เพราะราคามันนัวเนียอยู่ตรงนี้นาน
โดยหลักจิตวิทยาของคนเล่นหุ้น ถ้า "ขาดทุน" พอราคาขึ้นมาถึงทุน ก็จะรีบขาย ภาษาหุ้นเขาเรียกว่า "ขอชีวิตคืน" ตรงจุดนั้น ก็จะเป็น "แรงต้าน" แต่ถ้าราคามีการ Breakout หรือ การทะลุผ่านแนวต้าน ที่ 0.21 บาท ขึ้นไปได้ แนวต้านตรงนี้ก็จะกลายเป็น "แนวรับ" เลยนะ คนที่จะเล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้น ต้องดูจุดนี้ประกอบด้วย
นอกจากนี้ บางทีก็ต้องดูว่า "ฝรั่ง" (ต่างชาติ) เข้าหรือไม่เข้า ถ้าผ่านไป 2 ชั่วโมง (10.00-12.00 น.) วอลุ่มยัง 5,000 ล้านบาท อยู่เลย แสดงว่าวันนี้ "ฝรั่งไม่เข้า" ตลาดอาจจะนิ่งๆ ไม่ไปไหน แต่ถ้าวันไหนเปิดมา วอลุ่ม "ปี้ด" ขึ้นไปเลย ดัชนี SET กลับมา "บวก" เดาได้เลยว่า วันนี้ ฝรั่งต้องมี "Net Buy" ต้องรีบไปดูเลย หุ้นตัวไหนจะมา ให้เรา "เล่นตามน้ำ" หรือ Follow the Trend ได้
บางที เพื่อความแน่ใจต้องไปเช็คดูว่า วอลุ่มมาจากโบรกฯ ไหน ถ้ามาจาก บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) ใช่เลยของจริง ซึ่งส่วนใหญ่ (รายใหญ่) ก็จะรู้กันก่อนว่า "ฝรั่ง" มีออเดอร์เข้ามาหรือไม่มี
เสี่ยยักษ์ แนะนำเคล็ดลับเพิ่มเติมว่า ถ้าตลาดหุ้นจะ "ดี" มักจะต้องมีตัว Shoot (ตัวยิงประตู) ซึ่งหมายถึง "หุ้นนำตลาด" บางตัว หรือ "ข่าวดี" อะไรบางอย่าง "นำมาก่อน" จะเป็นการส่งสัญญาณให้หุ้นขึ้น พอคุณกล้า...ผมก็กล้า มันเป็นหลักจิตวิทยา ขณะเดียวกัน ถ้าหุ้นจะเปลี่ยนเป็น "ขาลง" มันจะมี "ตัวลงแรง" นำมาก่อน เดี๋ยวหุ้นตัวอื่นก็จะลงแรงตาม ลงหนักๆ ตามกันลงไป...ตลาดหุ้นมักจะเป็นอย่างนี้เสมอ !!! เช่น ถ้าวันนี้ หุ้น PTT ลงแรง หุ้น KBANK ลง หุ้น TOP รวมทั้งหุ้นตัวอื่นๆ ก็จะไหลลงตาม อย่างนี้เป็นต้น
เสี่ยยักษ์ บอกว่า "ตัวแปร" ที่ส่งสัญญาณเหล่านี้ ต้องใช้ประสบการณ์ และต้องหัดสังเกตบ่อยๆ อย่างบางช่วง ถ้าเราเห็นหุ้น "บิ๊กแคป" บางตัวกล้า "ฉีกตัว" หรือ "กล้าสู้" ขึ้นไป เดี๋ยวหุ้นตัวอื่นก็จะกล้าสู้ขึ้นตาม เราต้องจำว่าหุ้นตัวไหน "แข็ง" และสามารถ "ชี้นำ" ภาวะตลาดได้ อย่างเคส หุ้น PTT เริ่มสู้สวนขึ้นมา หุ้น IRPC เริ่มสู้ตาม แสดงว่าตลาดหุ้นไม่ได้เสียรูปมวย อย่างนี้ถือว่า "ดี" ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อวาน...ตอนท้ายตลาด หุ้น IRPC ยังอยู่ที่ 6 บาท แต่ตีขึ้นมาปิด 6.10 บาท แล้ววันนี้ ดัชนี SET อยู่ในแดนลบ แต่หุ้น IRPC ยังยืนราคาปิดเมื่อวาน หรือบวกนิดๆ แสดงว่า "แข็งแรง" อย่างนี้เราต้อง "จับตา" ถือว่าเจ๋ง
ตรงกันข้ามกับ หุ้น PTTEP คือ ยืนราคาต่ำ เมื่อวานนี้ตลาดหุ้นขึ้น แต่มันไม่ขึ้น วันนี้หุ้นลบ มันลบตาม ภาพอย่างนี้ "ไม่ดี" เราก็ต้องเก็บข้อมูลเอาไว้ ทุกวันๆ
เสี่ยยักษ์ สรุปให้ฟังว่า การเล่นหุ้นก็คล้ายกับการค้าขาย เราต้องรู้จัก "เลือกสินค้า" เข้าร้าน ต้องค่อยๆ ดูว่า หุ้นตัวไหนกำลังจะเป็นที่นิยม ซื้อได้ช่วงไหนราคาไม่แพง และพฤติกรรมของมันเป็นอย่างไร? ที่จริงแล้ว หุ้นแต่ละตัวจะมี "นิสัยสันดาน" ของมัน ก็คือ ชื่อ ชั้น นามสกุล แซ่ ของมัน ยกตัวอย่าง หุ้น HEMRAJ ตัวนี้ "เคี่ยวมาก" ต้องเล่นดวลกับเขาเลย 1-2 ช่อง (1% กว่า) เขาก็เอากำไรแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะอยู่ในวงการนี้ เราต้องรู้ให้มากๆ หรืออย่าง หุ้น TPIPL ใช้ได้ เพราะมีคนดูแล "มีวอลุ่ม" ราคาบางช่วงแข็ง...ไม่ลง หาจังหวะเล่นรอบได้ เป็นต้น
อีกเกร็ดความรู้หนึ่งที่ เสี่ยยักษ์ ไขปริศนาให้เข้าใจ ก็คือ การตั้ง Bid (เสนอซื้อ) และ Offer (เสนอขาย) หลอกกันได้อย่างไร?
โดยปกติ ถ้าเราเห็น การตั้งขาย "ไม้ใหญ่ๆ" ถ้าอยู่ฝั่งขาย (Offer) คนที่เห็นก็มักจะใจไม่ดี ซึ่งวอล่ม Offer ไม่ค่อยหรอก...มักจะขายจริง แต่ฝั่ง Bid มันหรอกกันได้ เช่น หุ้น BROCK (ก่อนปรับพาร์จาก 5 บาทเหลือ 1 บาท) มี Bid ช่องบน 6.50-6.60 บาท 1 ช่องวางซื้อ (Bid) ไว้ 7 แสนกว่าหุ้น นั่นคือ เขากลัว "ลง" เป็นการ "หนุน" เพื่อให้คนซื้อตาม แต่ถ้ามีคนเสนอซื้อเข้ามา อยากซื้อเท่าไรก็มีของ (หุ้น) ขายให้ อย่างนี้เป็นต้น "แต่ถ้าเป็น "หุ้นดี" ให้สังเกตว่า มักจะมี Bid วางซื้อไว้น้อย แต่ฝั่ง Offer วางขายไว้เยอะ โดยปกติของ "หุ้นดี" ช่วงเก็บของ หรือ ช่วงสะสมหุ้น รายใหญ่จะตั้ง "เสนอซื้อ" ไว้ไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ ...เพราะอะไร ถ้ามีคนขายออกมา เขารอรับ...เขารอเก็บเข้าพอร์ต ซึ่งภาวะอย่างนี้ คือ ช่วงที่ดัชนี SET ประมาณ ตี 4 ตี 5 คนยังเล่นหุ้นไม่เต็มตัว เขาจะรอรับ แต่ไม่ไล่ราคา" นี่เป็นอีกเกร็ดความรู้ในการอ่านเกมที่ เสี่ยยักษ์ ถ่ายทอดให้เข้าใจ
ตอนที่ 20 เล่นหุ้นสไตล์ "พญาอินทรี"
"เฮียประธาน เขาเป็นเจ้าของคอร์ตแบดมินตัน อยู่แถวถนนบางรัก ฉายาเขาคือ "พญาอินทรี" ถ้าวันไหนที่พวกเรา "เละ" หรือ "เจ๊ง" กันหมด เขาจะบินมาเลย..เขาจะมาซื้อหุ้น" การเล่นหุ้นให้ประสบความสำเร็จ "นิสัย" และ "พฤติกรรม" ของคนเล่นหุ้น ถือว่ามีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ นำประสบการณ์ที่พบมาจริงในตลาดหุ้นในช่วง 20 ปี มาถ่ายทอดให้ฟัง โดยระบุถึง "นิสัยคน" ที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ดังนี้...
# คนแรก..คนนี้อายุมากแล้ว แต่ "ไม่ยอมปรับตัว" ประกอบอาชีพประสบความสำเร็จมีเงินหลายสิบล้านบาท สุดท้ายก็มาล้มเหลวในตลาดหุ้น
# คนที่สอง..เป็นคนที่มีระเบียบวินัยมาก ศึกษาข้อมูลตลอดเวลา มีความมั่นคง คนนี้เป็นอดีตนักแบดมินตันทีมชาติ เขาก็ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น
# คนที่สาม..ไม่เก่งอะไรเลย อ่อนน้อมถ่อมตน บริการคนอื่นตลอดเวลา ทุกคนรัก ไม่เคยเอาเปรียบเพื่อน คนนี้ก็ประสบความสำเร็จได้ เพราะทุกคนเอื้อเฟื้อ(บอกหุ้น)เขา ไม่มีใครไปหลอกเขา
# คนที่สี่..ไม่ประสบความสำเร็จ นิสัยตรงกันข้ามคนอื่นตลอดเวลา เพื่อนบอกแบบนี้มันก็เถียงว่าต้องเป็นแบบนั้น เป็นคนไม่คิดอะไรลึกๆ ชอบสวนชาวบ้าน คือ เหรียญมันมี 2 ด้าน พูดเข้าข้างตัวเองยังไงก็ได้ ไม่เคยโทษตัวเอง คนนี้เจ้าของฉายาว่า "รู้อย่างงี้..." คนๆนี้มีเงินหลายสิบล้านบาทเข้ามาในตลาดหุ้น ตอนนี้ก็เหลือไม่เยอะ
# คนที่ห้า..ทำการบ้านตลอดเวลา(แอบ)เช็คพอร์ตคนอื่นตลอดเวลา ชอบคุยกับมาร์เก็ตติ้งของรายใหญ่ เพื่อแอบดูพอร์ตคนอื่น คนนี้ก็ประสบความสำเร็จ แต่เขาตีกอล์ฟคนเดียวไม่มีเพื่อน ขนาดนั่งกินข้าวกับมาร์เก็ตติ้งยังหารค่าอาหารกันเลย นี่เขาก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน
# คนที่หก..ย้ำคิดย้ำทำ เสียดายตลอดเวลา คิดแล้วคิดอีก เป็นคนละเอียด ไม่เอาเปรียบเพื่อนฝูง คนนี้ก็ประสบความสำเร็จได้
"นี่ผมเล่าให้ฟังถึงนิสัยของแต่ละคนเพื่อจะบอกว่า คนแต่ละคนนิสัยไม่เหมือนกันและก็มีช่องทางประสบความสำเร็จของแต่ละคน แล้วแต่เราจะเลือกทางเดินแบบไหน ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ไม่เกินความสามารถของทุกคน" เสี่ยยักษ์ยังเล่าถึง ความเหนือชั้นของอดีตเซียนหุ้นคนหนึ่ง ชื่อ "เฮียประธาน" เขาเป็นเจ้าของคอร์ตแบดมินตัน อยู่แถวถนนบางรัก ฉายาเขาคือ "พญาอินทรี" ถ้าวันไหนที่พวกเรา(เสี่ยยักษ์และเพื่อนๆในกลุ่ม) "เละ" หรือ "เจ๊ง" กันหมด เฮียประธาน จะบินมาเลย "เขาจะมาซื้อหุ้น" "สมัยก่อน ผมยกย่องเขามากว่า นี่คือสุดยอดของ "เสือ" ตัวจริง คือเขารวยอยู่แล้ว แต่เขาจะไม่มาเล่นหุ้นทุกวัน ถึงแม้จะไม่มาตลาดหุ้นแต่เขาจะติดตามหุ้นอยู่ที่บ้านเป็นประจำ เวลานี้เขาก็ยังเป็นอย่างงั้นจริงๆ เล่นหุ้นอย่างนี้ก็ประสบความสำเร็จได้"
อีกคนหนึ่งที่เสี่ยยักษ์ยกตัวอย่างให้ฟังด้วยความชื่นชม เขาชื่อ "สุวิทย์" เป็นอดีตนักแบดมินตันทีมชาติ คนคนนี้มีระเบียบวินัยมาก เวลาไม่ซื้อคือไม่ซื้อ ถ้าเขามองเศรษฐกิจไม่ดี เขาจะไม่เล่นหุ้น(เลย) นี่คือหลักการที่ถูกต้อง "อย่างสุวิทย์ เขาจะรอให้เกิดวิกฤติก่อน(หุ้นตกเยอะๆ)นานแค่ไหนเขาก็รอได้ วันที่เกิดวิกฤติ เขาจะมาซื้อหุ้น ตอนนี้ก็น่าจะมีเงินเป็นร้อยล้าน"
เมื่อถามถึงการลงทุนสไตล์ "หมอยง" ท.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม นักลงทุนรายใหญ่ระดับพันล้านบาท เสี่ยยักษ์บอกว่าหมอยงจะมีจิตวิทยาการลงทุนสูง ถ้าตลาดหุ้นตกลงมาเยอะๆเขาซาวด์เสียงว่า ถ้านักลงทุนรายใหญ่ทุกคน "กลัว" กันหมด แสดงว่าพวกคุณเพิ่ง "โดน"(ขาดทุน)มา คุณเพิ่ง Cut Loss มา เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะขายอีกก็มีไม่มาก "เขาจะซื้อ"
"แต่สไตล์การลงทุนของผมกับหมอยงจะต่างกัน หมอยงจะเล่นหุ้นเป็นรอบ(เล็กเล่นเร็ว)แต่ของผมจะรอ "รอบใหญ่" ขอทีเดียวหนักๆ ลักษณะใส่เต็มๆไปเลย ถ้าทุกคนกลัวกันหมด เครื่องมือเครื่องไม้ทางเทคนิคส่งสัญญาณซื้อ ผมก็เข้า ถ้ายัง..ผมก็รอนิ่งๆ" เสี่ยยักษ์บอกว่าอยู่ในวงการนี้มา 20 กว่าปี เห็นพฤติกรรมการเล่นหุ้นของคนเปลี่ยนไม่ค่อยได้ ใครนิสัยมายังไง บุคลิกยังไง วิธีการมันจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งคนที่จะประสบความสำเร็จ มันแล้วแต่สไตล์คน แต่คนที่อยู่รอดได้ มีแค่ประเภทเดียว คือ "คนที่ปรับตัว"
นอกจากนี้ คนที่จะ "อยู่รอด" บนเวทีนี้ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง เสี่ยยักษ์ย้ำนักย้ำหนาว่า ข้อสำคัญที่สุดคือ "ถึงเวลาขาดทุน..คุณต้องกล้าขาย" ถ้าคุณทำได้ "คุณจะรอด" พร้อมทั้งยังเล่าถึง "นักพนัน" ที่อยากมาเอาดีในตลาดหุ้นว่า คนที่ชอบเล่นการพนัน แล้วมาเล่นหุ้น ก็ "เจ๊ง" ได้ง่ายๆ "ผมเคยเห็นนักเล่นหุ้นที่เป็นนักพนัน เอาทุกอย่าง เห็นมาเยอะ "หมดตัวทุกคน" ไม่เหลือเลย มีคนหนึ่งเมื่อก่อนเคยมีเงิน 30 กว่าล้านบาท เล่นทุกอย่าง ฟุตบอลก็เล่น หุ้นก็เล่น บ่อนการพนันก็เข้า สุดท้ายแม้แต่ชีวิตครอบครัวเขาก็ล้มเหลว ...ชีวิตเขาพนันทุกอย่าง มีเงิน 20-30 ล้านบาท เคยเป็นเจ้าของร้านเสื้อผ้าในประตูน้ำ ตอนนี้มาเช่าบ้านอยู่ราคา 2,000 บาท จุดเสีย..ของคนประเภทนี้คือ เขาจะยืมเงินทุกคน แล้วเขาจะไม่มีโอกาสแก้ตัว ทุกอย่างกลับมาที่เครดิต ถ้าคุณไม่มีเครดิต ก็ไม่มีใครช่วยเหลือคุณ นี่คือความจริง" เสี่ยยักษ์ สรุปถึงนิสัยของคนเล่นหุ้นแต่ละประเภทให้ฟัง
ตอนที่ 21 ตลาดแบบไหน "เล่นแล้วได้ตังค์"
การอ่านอารมณ์ตลาด ถ้า "รายย่อย" สงบเสงี่ยมเจียมตัว "ฝรั่ง" ไม่เข้า บอกได้เลยว่าเล่นหุ้นไม่ได้ตังค์ ถ้าจะเล่นหุ้นให้ได้กำไร รายย่อยต้องมีจุดมั่นใจ นักเก็งกำไรแห่กันเข้ามาเล่นตามน้ำ ตลาดแบบนี้ "ได้ตังค์" ตลาดหุ้นแบบไหนที่เล่นหุ้นแล้วไม่ค่อยได้ตังค์...? (น่าเบื่อ)
"เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์บอกว่า กรณีที่ "รายย่อย" สงบเสงี่ยมเจียมตัวและ "ฝรั่ง" ไม่เข้า ตลาดหุ้นช่วงนั้นจะเงียบเหงา(ไม่น่าเล่น) บอกได้เลยเล่นหุ้นไปก็ไม่ได้เงิน อยู่นิ่งๆดีที่สุด ถ้าคิดให้เป็นหลักวิทยาศาสตร์ อธิบายได้ว่า เพราะเงินไม่มีมาหมุน "ทำกำไรยาก" "ถ้าจะเล่นหุ้นแล้วได้เงิน "รายย่อย" ต้องมีจุดมั่นใจ นักเก็งกำไรต้องตาม(น้ำ)กันแหลก! หุ้นมันจะวิ่งจู๊ด หรือขึ้นไปทำนิวไฮ(จุดสูงสุดใหม่)ได้" เสี่ยยักษ์อธิบายว่า ช่วงที่หุ้นขาขึ้นมันจะมีจังหวะ "พักตัว" จากนั้นให้สังเกตว่า มักจะมีข่าวดีมา "หนุน" จังหวะสองที่ทุกคนมองว่าราคามันวิ่งขึ้นไปทำ "นิวไฮ" ช่วงนี้แหละ นักเก็งกำไรจะแห่ตามกันแหลก!!
ทั้งนี้ สำหรับช่วง "พักตัว" ในหุ้นพื้นฐานดีๆจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่ค่อยรีบร้อนขึ้น (จะตรงกันข้ามกับหุ้นปั่น ที่รีบร้อนขึ้น) ยกตัวอย่าง หุ้น ปตท. เวลาเขาจะทำหุ้นตัวนี้ เขาจะต้องค่อยๆเก็บ บีบให้เหลือแต่คนที่ "ใจถึง" จริงๆ พอทุกคนหมดแรง มันก็จะ "วิ่ง"
"ยิ่งหุ้นตัวใหญ่ ถ้าเขารู้ว่าตอนไอพีโอ มีคนไปแย่งกันจอง(หุ้นไม่พอขาย) พอเข้าตลาดมาปั๊บ! เขาจะพยายามกดราคา เพื่อกดลงมารับต่ำๆ ถ้าวันแรกเปิดมาสูง เขาก็จะเทรดให้หุ้นต่ำลงมาก่อน ...แต่คุณดู พอมันเก็บของ(สะสมหุ้น)ได้พอแล้ว สังเกตว่า "วอลุ่มพีค" (เก็บของได้แล้ว) ราคาปรับตัวลงมาเสร็จ คราวนี้ปริมาณซื้อขายจะไม่ได้เยอะ สภาพคล่องจะเริ่มตึงขึ้น ราคาจะค่อยๆขยับขึ้นช้าๆ บางทีก็เล่นไซด์เวย์อยู่นาน จนคนซื้ออึดอัด ใครทนไม่ไหวก็ "คืนของ" ให้เขา แต่พอเขารวบรวมหุ้นได้เต็มที่แล้ว พอ MACD (ระยะเดือน) ตัดขึ้น ทีนี้มันวิ่งขึ้นเร็วมาก"
เสี่ยยักษ์อธิบายว่า ส่วนตัวชอบใช้กราฟ MACD ระยะเดือน (Month) เป็นดัชนีชี้นำหลักสำหรับการลงทุน "รอบใหญ่ๆ" ที่ผ่านมาก็ใช้ได้ผลดีมาตลอด แต่ถ้ามาถามรายละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎี "ผมไม่รู้" แต่รู้ว่าถ้า MACD ทะลุ "ศูนย์" ลงไปเลย "ไม่ดี" แต่ถ้า MACD อยู่ต่ำกว่าศูนย์ มันจะขึ้นมาที่ศูนย์ก่อน จากนั้นหุ้นจะปรับตัวลงอีกรอบ คือมีการพักตัวรอบใหญ่ แล้วถ้ามันกลับมาที่ "ศูนย์" อีกที บีบตัวแล้ว "ตัดขึ้น" คราวนี้หุ้นจะเป็นขาขึ้น "รอบใหญ่"
เสี่ยยักษ์บอกว่า ระหว่างการ "ก่อตัว" ของหุ้น จากประสบการณ์ดูกราฟราคาเราจะรู้เลยว่าถ้าใครดูเป็น (รู้จริง) กราฟไม่มีหลอก อย่างเช่น หุ้น ATC ถ้าจับจุดถูก MACD ระยะเดือน ตัดขึ้นชัดเจนช่วงปลายปี 2545 สัญญาณดีมาก แต่ก็ต้องทำการบ้านด้านปัจจัยพื้นฐานประกอบด้วย ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้ารีบเข้าไปซื้อ "ตอนนั้นทั้งกราฟและข้อมูลพื้นฐาน ยืนยันในทิศทางเดียวกัน เรารู้เลยว่าหุ้นตัวนี้มันจะ "เทิร์นอะราวด์" พอวงจรปิโตรเคมีมันมา (ปี 2546) หุ้นขึ้นมหาศาลเลย" หรืออย่างหุ้น ปตท. ตัว MACD ระยะเดือน มันตัดลงมาตั้งแต่ต้นปี 2549 แล้ว หุ้น ปตท.ค่อยๆลงมาจาก 270 บาทลงมา 200 บาท ช่วงนี้รู้เลยว่ามันกำลังพักตัว (หลังจากขึ้นมาต่อเนื่องยาวนาน 3 ปี ช่วงปี 2546-2548) "ช่วงที่ MACD ของหุ้น ปตท. ตัดลงมา ทั้งสองเส้นมันยัง "ถ่าง" กันอยู่เยอะ ผมก็รอให้ MACD มันบีบ พร้อมที่จะตัดขึ้นก่อน เราถึงจะมีจุดมั่นใจเข้าซื้อ (เพื่อเล่นรอบใหม่) เรารู้ว่าพื้นฐานของหุ้นดีมากอยู่แล้ว แต่หุ้นทุกตัวจะต้องมีระยะพักตัว บางครั้งอาจจะกินระยะเวลานานหลายเดือน บางครั้งครึ่งปี บางตัวนาน 2-3 ปี"
เสี่ยยักษ์อธิบายถึงระยะพักตัวของหุ้นเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่หุ้นบางตัว "พักตัวนาน" แสดงว่ามี "คนเจ็บ" กับหุ้นตัวนั้นเยอะ มันต้องใช้เวลา "รอ" ผลการดำเนินงานหรือข่าวดี หุ้นถึงจะมีแรงกลับมาสู้ใหม่ แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ "กำไรดี" อยู่แล้ว ระยะพักตัวก็อาจจะไม่นานมาก วิธีการในการวิเคราะห์หุ้นระดับ "ลึก" ของเซียนหุ้นรายนี้ มีขั้นตอนอย่างไร
"สมมติ ผมจะวิเคราะห์หุ้น ปตท. เรารู้ว่ากำไรสุทธิปีนี้ ไม่น่าจะหนีหุ้นละ 30-35 บาท เทรดกันที่ค่า พี/อี ต่ำแค่ 6-7 เท่า เราก็ประเมินว่า ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่สูงอย่างนี้ไปอีกหลายปี หุ้นปตท. ยังไงก็ต้องดี แต่หุ้นลงมาเหลือ 210-220 บาท คราวนี้เราก็รอเวลาให้กราฟ MACD ยืนยันการ "ตัดขึ้น" ก่อน เราค่อยเข้าไปซื้อ เปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงก็จะไม่สูง ระยะเวลา "รอ" ราคาวิ่งขึ้นก็ไม่นานด้วย"
มันเป็นสูตรวิธีคิดว่า การที่ MACD มันบีบแล้ว "รอ" ตัดขึ้นเหนือ "ศูนย์" ราคาหุ้นอยู่ในเขต "Oversold" คือ อยู่ในเขตขายมากเกินไป จนข่าวร้ายไม่มีผลต่อราคา ไม่มีทางร้ายไปกว่านี้แล้ว คนที่ติดหุ้นอยู่จะให้ขายก็ไม่อยากขายขาดทุนมาก จะให้บุ่มบ่ามรีบซื้อก็ยังไม่กล้าซื้อ นิ่งๆเฉื่อยๆชาๆ "จุดนั้นคือจุดที่อันตรายที่สุด แต่เป็น...จุดที่ปลอดภัยที่สุด คือประมาณ ตี 5 ถึง ตี 5 ครึ่ง จ่ายกับข้าวสบายๆ ไม่ต้องแย่งกับใคร ถ้าอยากจะรวย คุณต้องรอจังหวะนี้ให้ได้"
ตอนที่ 22 รู้จักคำว่า "รอคอย"
ถ้าเราเทรดหุ้นทุกวัน สมองมันไม่มีจุดคิด การตัดสินใจบ่อยมันพลาดได้ง่าย คุณต้องรอจังหวะ รอให้เครื่องมือทางเทคนิคยืนยัน แล้วทุกคนเริ่มกลัวกันหมด ตรงนั้นคือ จุดที่ปลอดภัยที่สุด ซื้อเสร็จก็ใส่ปี๊บเอาไว้ ความสำเร็จที่ยากที่สุดอาจไม่ใช่การเดินทางเพื่อค้นหา "กลยุทธ์สู่ความสำเร็จ" เพราะพื้นฐานแห่งความสำเร็จ แท้ที่จริงแล้วคือ การเอาชนะจิตใจของตัวเองให้ได้เสียก่อน ในตลาดหุ้น การ "รู้เขา" อย่างเดียว มิอาจไปถึงเป้าหมายได้ ต้อง "รู้เรา" อย่างถ่องแท้ด้วย ไม่เช่นนั้นเงินที่กลาดเกลื่อนอยู่ในตลาดหุ้น ก็ไม่สามารถ "หยิบ" ขึ้นมาเชยชมได้ คำจำกัดความสั้นๆที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เน้นย้ำก็คือ ถ้าอยากจะเล่นหุ้นให้รวย ต้องรู้จักคำว่า "รอคอย" (อดทน) ต้องรอจังหวะ รอรอบของมันให้ได้ แล้วทำไม! จะรอมันไม่ได้ คุณต้องนิ่ง คุณต้องใจเย็นๆ "ถ้าคุณอยากจะประสบความสำเร็จในอาชีพเล่นหุ้น คุณต้องเป็นมืออาชีพให้ได้ คุณถึงจะอยู่รอด"
เสี่ยยักษ์ บอกว่า "หุ้นในดวงใจ" ไม่ได้มีกันทุกๆเดือน บางทีต้องรอคอยนานเป็นปีถึงจะเจอ "รอบใหญ่" สักตัว สมัยก่อนรายย่อยเป็นใหญ่ในตลาดหุ้น "หุ้นเก็งกำไร" ครองเมือง วางมาร์จิน 30% เล่นหุ้นได้ 100% เล่นกัน "มันส์"สุดๆ แต่สมัยนี้ฝรั่งคุมตลาดหุ้นเราหมดแล้ว ของเรา 100 หัวสมอง เล่นหุ้นไม่ตรงกันเลย แต่ของเขา 10 หัวสมองเล่นหุ้นตัวเดียวกัน เขาคิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นยุคนี้ต้องเล่น "หุ้นพื้นฐาน" ถึงจะมีโอกาส เสี่ยยักษ์เล่าว่า วิธีการเล่นหุ้นสมัยก่อน รายใหญ่จะใช้วิธีการ "อมหุ้น" แล้ว "ลาก" ขึ้นยาวๆไม่มีตก แล้วเล่นกันทั้งกระดาน รายย่อยจะ "เล่นรอบ" ได้ตลอดเวลา พอออกจากตัวนี้ ถ้าตัวไหนยังไม่ขึ้น ก็เข้าตัวนั้นดักทางไว้ก่อน ผิดกับยุคสมัยนี้ เล่นหุ้นแบบเดิมไม่ได้แล้ว พฤติกรรมของตลาดเปลี่ยนไปหมด หันมา "เลือกตัวเล่น" (ฝนตกไม่ทั่วฟ้า) ยกตัวอย่างเช่น ถ้า BAY-W1 ขึ้น หุ้นวอร์แรนท์จะขึ้นกันทั้งกระดาน ปาเป้าตัวไหนก็ถูก ผิดกับตอนนี้ BAY-W1 ขึ้นตัวเดียวตัวอื่นลงหมด เป็นต้น
ในสมัยก่อนถ้า "เจ้าของหุ้น" อยากให้หุ้นของตัวเองขึ้น เขาจะลากขึ้นไปให้ถึงจุดสุดยอดเลย (เล่นยาว) แต่เดี๋ยวนี้ เปล่า! เจ้าของหุ้นมันคิดแบบว่า จะ "ถอนทุนคืน" เร็วๆ เขาคิดว่าหุ้นอยู่ในกระเป๋าตัวเอง ขายแล้วได้ตังค์เลย จะ(โง่) ถือนานไปทำไม! พอเอาหุ้นเข้าตลาด (ขายไอพีโอ) เสร็จ ก็ทยอยปล่อยหุ้นขาย รวยอยู่คนเดียว ใครไปซื้อหุ้นอย่างนี้ก็ "ซวย" !!! สำหรับหุ้นที่ดี "ผู้บริหาร" หรือ "เจ้าของ" จะต้องไม่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นคือไม่มีพฤติกรรมทุจริต และต้องดูแลหุ้นของตัวเอง หุ้นอย่างนี้จะมี "รอบเล่น" เสี่ยยักษ์กล่าวว่า คนเล่นหุ้นทุกคนจะต้องเคยมีประสบการณ์ "เฉียดรวย" (เจอหุ้นขึ้นรอบใหญ่)มาหมด แต่ทำไม! หลายคนเล่นหุ้นแล้วไม่ได้ตังค์หรือได้กำไรน้อย สาเหตุที่คุณไม่ชนะ เพราะเจอแบบไม่มีกลยุทธ์ กล้าๆกลัวๆอ่านตลาดไม่ขาด จะซื้อตามก็ไม่กล้า (จะรอให้มันปรับฐานราคาก่อน...สุดท้ายก็ไปซื้อแพง) หุ้นขึ้นนิดหน่อยก็รีบขายตัดกำไรทิ้ง เท่าที่สังเกต...พฤติกรรมอย่างนี้ จะเกิดกับคนที่เทรดหุ้นทุกวัน สมองมันไม่มีจุดคิด เพราะการตัดสินใจบ่อยมันพลาดได้ง่าย ข้อเสียอีกอย่างคือ ใจไม่นิ่ง
ถ้าจะเล่นหุ้นให้รวย คุณต้องรอจังหวะ รอให้เครื่องมือทางเทคนิคมันพร้อม (ตัดขึ้นก่อน) พื้นฐานหุ้นรองรับ จุดสำคัญ...ถ้าตลาดหุ้นช่วงไหนคนเริ่มกลัวกันหมด "แหยงตลาด" ตรงจุดนั้นคือ "จุดที่ปลอดภัยที่สุด" ซื้อเสร็จก็ใส่ปี๊บเอาไว้เลย "นี่คือ..เคล็ดลับ" เมื่อสอบถามเสี่ยยักษ์ถึงประสบการณ์ "เฉียดตาย" และ "เฉียดรวย" "ส่วนใหญ่จะ "เฉียดตาย" (รอด)มากกว่า ยกตัวอย่างหุ้นธนายง สมัยก่อน 600-700 บาท แล้ววันนี้เป็นยังไงเหลือ "บาทกว่า" หุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปิดกันหมด ดัชนี SET ลงมาเหลือ 200 จุด ถ้าใคร Cut Loss ไม่เป็นฟันธงเลยว่า "ตาย" หมด"
เพราะฉะนั้นการเล่นหุ้น เราต้องมี "เป้า" ในใจตลอดเวลาว่า ถ้าราคาลงมาเท่าไร? คุณต้องขาย ยกตัวอย่าง วันที่เกิดเหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรดถล่ม (11 กันยายน 2544) วันเดียวโดนไป 26% เรามองว่าเรื่องมันคงไม่จบง่ายๆ ต้องมีการแก้แค้น "เวลาที่เกิดเหตุการณ์ช็อก!ตลาด ผมจะประเมินว่า จากนี้ไปสถานการณ์จะดีขึ้นกว่านี้มากมั้ย! ถ้าคำตอบคือ "ไม่มีทาง" นั่นหมายถึงว่า เราต้องยอมขาย(ขาดทุน) ผมมีคติว่า ถึงคราว "แพ้" ก็ต้องยอมแพ้ ต้องกล้าขาดทุน พอเปิดตลาดมาดัชนีดิ่งลงเหว ผมก็รอให้มันรีบาวด์แล้วก็ขายล้างพอร์ตหมด จำได้ว่าตอนนั้นขาดทุนไป 20-30 ล้านบาท"
เสี่ยยักษ์บอกว่าจากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการนี้มาอย่างยาวนาน ไม่มีใครที่ซื้อหุ้น "ถูกตัว" หมดทุกครั้ง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นอาชีพเราต้องมอง "โอกาส" และ "ความเสี่ยง" อยู่ตลอดเวลา ถ้าลงมาถึงตรงไหน คุณต้องตัดสินใจเด็ดขาด "คนที่พลาดมักจะเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจอะไรเด็ดขาด ไม่เด็ดเดี่ยว แล้วชอบอ้างเหตุผลมากลบเกลื่อนความผิดพลาดของตัวเอง...ลองไปคิดดูว่าจริงอย่างที่พูดหรือไม่"
ตอนที่ 23 กลยุทธ์สร้าง "ดีมานด์"
ถ้าคิดจะ "สร้างราคาหุ้น" แล้วไม่ให้วงแตก มือทำหุ้นที่เป็นมืออาชีพเขาจะบอกเจ้าของหุ้นว่า คุณต้องโอนหุ้นมาให้ก่อน แล้วต้องเอาเงินมาให้ด้วย...ล้านเปอร์เซ็นต์เลย ถึงจะสำเร็จ !!! "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ฟัง สมัยก่อนมี "นักปั่นหุ้นชั้นเซียน" อยู่คนหนึ่ง ชื่อเสียโด่งดัง เขาเกาะกันกับอดีตนักการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งนักการเมืองคนนี้ตอนแรกเล่นหุ้นไม่เป็นเลย ก็มาเข้ากลุ่มกับ "นักปั่นหุ้น" คนนี้ เขาก็ใช้เพาเวอร์ทางการเมืองไปหาหุ้น(เน่าๆ)แล้วเอามา "ปั้น" จนร่ำรวย สมัยก่อนพอได้หุ้นมา วิธีการเขาจะเอามาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ แล้วก็ออกหุ้น PP (Private Placement) วิธีนี้ "ฮิตมาก" คือ การเสนอขายหุ้น "แบบเจาะจง" ในราคา "ถูก" ให้กับพรรคพวกตัวเอง แล้วก็เอามาเล่นกันในตลาด แรกๆก็เริ่มออกสตาร์ทจุดเดียวกัน หมายถึง ต้นทุนเท่ากัน คุณได้กำไรเท่าไร ทุกคนก็ได้ด้วย คือ "แบ่งผลประโยชน์กันลงตัว" พอเขาเริ่ม "รู้ทาง" (รวย) คราวนี้ไม่เป็นอย่างงั้นแล้ว ไม่อยากแบ่งใครจะกินรวบคนเดียว พอเขาหาหุ้นมาได้ก็ให้นอมินีเก็บหุ้น PP ราคาต่ำไปหมด แล้วก็ไปชักชวนพรรคพวกให้มาช่วยกันทำหุ้น ถ้าใครหลงกลก็ต้องไปซื้อหุ้นราคาแพงต่อจากเขา เล่นกันไปสุดท้ายก็ "วงแตก" ต้องมานั่งทะเลาะกัน นิทานเรื่องนี้เสี่ยยักษ์สรุปให้ฟังว่า ใหญ่กับใหญ่ หรือ เสือกับเสือ อยู่ด้วยกันไม่ได้นาน สุดท้ายก็แตกคอกันเอง เกี่ยวกับการ "ทำหุ้น" ที่เสี่ยยักษ์เคยเกริ่นไปแล้วในบทก่อนๆ คราวนี้มาขยายความให้ฟังเพิ่มเติมว่า... "หุ้นตัวไหนที่ "เจ้าของ" ไม่ทำ (ยกเว้นหุ้นมวลชน) อย่าหวังว่ามันจะขึ้นได้เอง คิดง่ายๆมีซัพพลาย(มีหุ้น)แต่ไม่มีดีมานด์(คนซื้อ) มันจะขึ้นได้ยังไง อันนี้แน่นอนที่สุด ถ้าเจ้าของไม่ร่วมมือด้วย ฟันธงเลยครับ "ไม่มีทาง" หุ้นที่หวือหวาๆเจ้าของเปิดไฟเขียวให้ทั้งนั้นแหละ" ที่จริงแล้ว "การปั่นหุ้น" คนภายนอกจะดูเหมือนง่าย แต่ถ้าไม่ไปคุยกับเจ้าของหุ้นก่อนไม่มีทางเลยครับ เดี๋ยวนี้! เจ้าของลงมาเล่นเองยิ่งน่ากลัว ถ้าคุณไม่ไปคุยกับเขาก่อนแล้วทะเล่อทะล่าไปทำหุ้นเขา โดนโยนหุ้นใส่ คุณอยากได้หุ้นเท่าไร...เอาไปเลย คุณไม่มีทางออก "ยิ่งขาย...ยิ่งตก"
"สมมติ ผมเป็นเจ้าของหุ้นนะ อยากให้หุ้นของผมมีคนมาเล่น ก็ต้องหาคนมาทำหุ้นให้ ผมมีเงินให้คุณ มีหุ้นให้คุณ บอก Target ไปเลยว่า ผมอยากได้ราคาเท่าไร? ถ้าทำถึงเป้าหมายตรงนี้ คุณได้เท่าไร? ถ้างั้นไม่มีใครกล้าเสี่ยง เพราะอะไรรู้มั้ย! ถ้าคุยกันปากเปล่า ไม่มีหุ้น ไม่มีเงินมาให้ สุดท้ายก็ทะเลาะกันเอง สมมติผมกำลังเล่นขึ้นไปอยู่ดีๆ แต่มีคนโยนหุ้นก้อนใหญ่ออกมา (ล่าสุดเหมือนกรณีหุ้น EMC) วงแตกเลย...เกมโอเวอร์! ใครขายว่ะ! คุยกันแล้วนี่หว่า ถามหน่อยใครมีหุ้นก้อนใหญ่ ถ้าไม่ใช่เจ้าของขายเอง นี่ไง...วิธีการหลอกให้เข้าไปติดกับดัก"
ดังนั้นวิธีที่ได้ผลแน่นอนที่สุด เขาจะ "โอนหุ้น" มาให้ก่อนก้อนหนึ่งแล้วก็ให้เงินมาอีกก้อนหนึ่ง แล้วให้มืออาชีพเป็นคนทำ แต่ถ้านักข่าวไปถามเจ้าของหุ้น ร้อยทั้งร้อยจะปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง "ผมมีหน้าที่บริหารอย่างเดียวครับ" เชื่อเถอะ! ตอบอย่างนี้ทุกราย เพราะฉะนั้น ถ้าคิดจะ "สร้างราคาหุ้น" แล้วไม่ให้วงแตก มือทำหุ้นที่เป็นระดับมืออาชีพ เขาจะบอกเจ้าของหุ้นว่า คุณต้องโอนหุ้นมาให้ก่อนแล้วต้องเอาเงินมาให้ด้วย และต้องสัญญากันว่าระหว่างทางตรงจุดไหนขายได้ ตรงไหนห้ามขาย...เชื่อผมเถอะ! ล้านเปอร์เซ็นต์เลย ต้องใช้วิธีนี้ถึงจะสำเร็จ เมื่อเรารู้เกมว่า หุ้นตัวนี้เป็น "หุ้นปั่น" ล้านเปอร์เซ็นต์ เสี่ยยักษ์แนะนำว่า อย่างเราเล่นหุ้นเก็งกำไร คุณต้องเล่นเป็น "ตัวประกอบ" อย่าเล่นเป็น "พระเอก" เพียงแต่ว่าถ้าเขาปั่นกัน เราก็เล่นน้อย ถ้าอยากเล่นเยอะต้องเล่นหุ้นมวลชน หลอกกันไม่ได้
โดยยกตัวกรณีของหุ้น NMG-W2 ช่วงใกล้หมดอายุ ช่วงต้นปี 2550 หุ้นตัวนี้ถูกลากราคาจาก 0.24 บาทขึ้นไป 2.40 บาทภายในเวลาเพียง 10 วัน ในวงการรู้ว่า ใคร...? เป็นคนมาเล่น NMG-W2 คนนี้ปั่นหุ้นไม่ต้องมีสตอรี่อะไรเลย เขาเคยลากหุ้นบางตัวจาก 1-2 บาทให้วิ่งไป 7-8 บาทได้เลย ถือว่าใจถึงและมือถึงที่สุดในวงการ ไม่มีใครเกิน "เสี่ย" คนนี้ ตอนนั้นหุ้น NMG-W2 แปลงสภาพ 14 บาท ราคาหุ้นแม่ NMG อยู่ที่ 8.50 บาท เล่นข่าวได้เวลาช่อง 9 อสมท. เขาเล่นหุ้นแม่ขึ้นมาที่ 11 บาท แต่ลาก NMG-W2 ขึ้นไป 900% ใกล้หมดอายุแล้ว เล่นกันขึ้นไปได้ยังไง "ตอนนั้น มีคนโทรศัพท์มาถามผมว่า ติด NMG-W2 ที่ "บาทกว่า" จะทำยังไงดี ผมบอกว่ามันจะหมดอายุอยู่แล้ว ยังไงคุณก็ต้องทิ้งแล้ว เขาถามว่าจะขายยังไงหมด ผมบอกว่าคุณก็ขายแบบเหวี่ยงแห (กระจาย) ซิ! พอขายหมดที่ 1.20 บาทเขาลากขึ้นไป 2.40 บาทเลย ถามว่า ถ้าคุณเป็นรายย่อยจะเล่นหุ้นประเภทนี้ยังไง ผมจะยกตัวอย่าง กลยุทธ์ที่นักลงทุนรุ่นน้องที่เล่นหุ้น NMG-W2 ให้ฟัง ไอ้คนนี้ที่จริงมันเป็นรายใหญ่พอสมควร มันมีโทรศัพท์ 4 เครื่อง สั่งซื้อกระจาย 2,000 หุ้น 2,000 หุ้น 2,000 หุ้น กระจายออเดอร์ (เป็นหางว่าว) คือ เขาพยายามแตกออเดอร์ให้ย่อยๆๆ ไม่อยากให้รายใหญ่จับได้ วิธีนี้เขาก็หาเงินใช้ได้เรื่อย" นี่เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับในการลงทุน "หุ้นปั่น" ที่เสี่ยยักษ์เล่าให้ฟัง
ตอนที่ 24 รังเสือ..ถ้ำมังกร
ภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า "เสือ 2 ตัว ไม่อยู่ถ้ำเดียวกัน" คำๆนี้เป็นจริงอย่างไร "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์อธิบายว่า โดยธรรมชาติ "ใหญ่กับใหญ่" จะอยู่ด้วยกันได้ไม่นาน..เชื่อผมซิ!!! มันเป็นอย่างนี้จริงๆ สุดท้ายมันก็จะ "ขี่" (เอาเปรียบ) กันเอง ..พูดตรงๆผมเคยเล่นหุ้นปั่น วันที่ผมขายหมดแต่บางคนไม่ได้ขาย ผมเสียเพื่อนไปก็หลายคน เสียน้องไปก็หลายคน สุดท้ายมันไม่ได้อะไรขึ้นมา มันไม่คุ้มหรอก..เชื่อผมซิ!!!
นอกจากนี้ การเข้าไปเทรดหุ้นกับโบรกฯไหน เสี่ยยักษ์จะดูว่าโบรกฯนั้นมี "พอร์ตเล่นหุ้น" ด้วยรึเปล่า! ถ้า "มี" โดยส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบไปเทรดหุ้นที่นั่น เพราะคิดแง่ลบไว้ก่อนว่า "เขาจะดักกินเรา" (รู้ความเคลื่อนไหวรายใหญ่) ส่วนโบรกฯไหน ที่เห็นรายใหญ่ไปรวมตัวกันมากๆแสดงว่าเขาจับมือกันแน่นแล้ว เสี่ยยักษ์ยังเล่าถึงวิธีการเอาเปรียบ (ขี่) กันในวงการรายใหญ่ที่เจอมากับตัวเอง "คุณคิดว่ามาร์เก็ตติ้งเขาไม่มีอินไซด์เหรอ ผมเคยทะเลาะกับคนบางคน เขาไปซี้กับมาร์เก็ตติ้งของผม เขาก็เป็นรายใหญ่เหมือนกัน โดยใช้วิธีเลี้ยงมาร์เก็ตติ้งไว้หลายคนหลายโบรกฯ กลางคืนก็พาไปเที่ยว พาไปกินเหล้า แล้วก็บอกมาร์เก็ตติ้งของผมว่า เวลาเสี่ยยักษ์จะซื้อหุ้นอะไร ก็ให้สั่งซื้อให้เขาก่อน เขาจะสั่งประมาณว่า ถ้าพี่ยักษ์ซื้อหุ้นตัวนี้ 10 ล้านหุ้น ซื้อให้เขาก่อนเลย 2 ล้านหุ้น เอาเปรียบกันอย่างงี้เลย ผมจะบอกให้ว่าอยู่ในวงการนี้นานๆ ยิ่งคุณเป็นรายใหญ่ จะมีพวกที่จ้องหาผลประโยชน์จากคุณ มันขี่กันซึ่งๆหน้า เวลาที่ผมจะขายหุ้น ก็สั่งว่าให้ขายของเขาก่อน แล้วค่อยขายให้ผม" กรณีที่ "ใหญ่กับใหญ่" จะอยู่ "รัง" เดียวกันได้ เขาต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน "อย่าง "ผม" กับ "ปู่" (เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล) เล่นหุ้นห้องวีไอพี อยู่ติดกัน ต่างคนต่างไม่รู้พอร์ตกัน พูดจริงๆด้วยศักดิ์ศรี (ที่เสมอกัน) เขาก็ไม่แอบถามมาร์เก็ตติ้งผม ส่วนผมก็ไม่แอบถามมาร์เก็ตติ้งเขา อย่างงี้..ถึงจะอยู่ด้วยกันได้ แต่เวลาเรานั่งกินข้าวเที่ยงด้วยกัน (ลูกค้าวีไอพี โบรกฯ จะจัดอาหารกลางวันให้มานั่งรับประทานร่วมกัน) เราก็คุยกัน เขาอาจจะถามว่าหุ้นตัวนี้ วิชัย (เสี่ยยักษ์) เล่นมั้ย! บางทีผมก็อาจจะถามว่า ตัวนี้ปู่ซื้อมั้ย! ถ้าเห็นแนวทางเดียวกันก็อาจจะซื้อเหมือนกัน แต่หลังๆผมกับปู่วิธีการเล่นหุ้นจะต่างกันมาก สมัยก่อนเราจะเล่นหุ้นทางเดียวกัน (ออกแนวเก็งกำไร) ถ้าซื้อด้วยกันหุ้นตัวนั้นจะขึ้นเยอะ แต่หลังๆพอผมมาสำเร็จกับวิธีการเล่นหุ้นอีกแบบหนึ่ง หันมาเน้น "หุ้นมวลชน" ปู่ก็จะไปทาง Value Investor คือ เขาจะเล่นหุ้นกระจายเป็น 10-20 ตัว ไม่เล่นกระจุกตัวเหมือนสมัยก่อน เวลาหุ้นขึ้น มันก็ไม่แรงเหมือนก่อน" ในยุคที่ยังเล่นหุ้นเก็งกำไร เสี่ยยักษ์ย้อนเล่าอดีตว่า รายใหญ่ๆจะเล่นหุ้นทางเดียวกันหมด ในลักษณะเกาะกลุ่มกันเล่น เรียกว่า "ก๊อบปี้หุ้น" กันเลย อย่างหุ้น SHIN-W1 สมัยก่อนจะเฮโล! กันเข้าไปเล่น แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนต่างสำเร็จวิชาคนละวิชา เวลาคิดอะไรจะไม่ค่อยเหมือนกันแล้ว
"ตั้งแต่ยุค SHIN-W1 ผ่านมา ก็แบ่งกลุ่มกันออกมา พอนานๆไปต่างคนต่างค้นหาแนวทางตัวเอง จุดเปลี่ยน! เป็นเพราะว่าเมื่อก่อนรายย่อยใหญ่กว่าต่างชาติเยอะ เดี๋ยวนี้ พลังรายย่อยลดลง สถาบันใหญ่ขึ้นมา ต่างชาติคุมตลาด รายย่อยก็แทบจะไม่มีความหมาย ชี้นำตลาดไม่ได้ ทุกคนก็เริ่มเปลี่ยนวิธีการเล่นหุ้น อย่างกลุ่มผมคือ เราเล่นด้วยกัน พอดัชนี SET ตกลงมา กลุ่มนี้ก็ขาดกำลัง หลายคนติดหุ้น แต่ยังมีวงเงินกู้พอเล่นได้ แต่ภาวะตลาดไม่เอื้อ ทุกคนก็ไม่อยากเล่น กลุ่มที่เคยมีพละกำลังก็สลายกำลังไปหมด ผิดกับเมื่อก่อน พอบอกว่าจะเล่นหุ้นตัวไหนใส่กันไปยิ่งกว่าพายุ หุ้นนี่วิ่งแรงเลย พอช่วงหลังๆคุยกันว่าจะเล่นหุ้นตัวนี้ อีกคนบอกว่าไม่เอาดีกว่า มันไม่ได้แตกคอกัน แต่ไม่แข็งแรงอย่างเดิมอีกแล้ว" เสี่ยยักษ์สรุปว่า ในที่สุดวิธีการลงทุนก็เปลี่ยนกันไปหมด "เสี่ยปู่" ก็ไปสำเร็จวิชา "เล่นหุ้นมูลค่า" เขาก็ไปทำ Company Visit ไปคุยกับผู้บริหาร ส่วนตัวผมก็เปลี่ยนสไตล์คือ "รอเล่นรอบใหญ่" จะให้จับปลาซิวปลาสร้อย (หุ้นเก็งกำไร) เหมือนสมัยก่อนไม่ค่อยเอากันแล้ว..แต่ทุกวันนี้ ก็ยังมีกลุ่มรายใหญ่ที่ไปรวมตัวอยู่กับโบรกเกอร์บางแห่ง เขาก็ยังชอบ "เล่นข่าว" (ไล่ราคาหุ้น) อยู่ คือวิธีคิดมันไม่เหมือนกัน
เมื่อถามว่าในวงการเล่นหุ้น "รายใหญ่" จะลิ้งค์ถึงกันหมดหรือไม่!! "ส่วนใหญ่จะรู้จัก(ชื่อเสียง)กันว่าใครเป็นใคร อยู่ที่ไหน แต่บางคนก็ไม่เคยเจอตัวกัน" เสี่ยยักษ์ย้ำว่า โบรกเกอร์ที่เล่นหุ้นอยู่ทุกวันนี้ มีรายใหญ่ที่สุดอยู่ 2 คน "ผม" กับ "ปู่" (ที่เล่นใหญ่ระดับพันล้าน) แต่บอกได้เลยว่า เราไม่เคยเอาเปรียบน้อง มีข่าวอะไรดีๆก็บอกหมด อย่าง "ยะ" มีเงินกว่าล้านบาท เขาก็แฝงตัวเข้ามาในกลุ่ม เราก็ให้โอกาสทุกคน "พูดตรงๆผมเคยเล่นหุ้นปั่น วันที่ผมขายหมด บางคนไม่ได้ขาย ผมเสียเพื่อนไปก็หลายคน เสียน้องไปก็หลายคน สุดท้ายมันไม่ได้อะไรขึ้นมา สุดท้ายผมต้องถามคนใกล้ตัวว่า พี่ขาดทุนเท่าไร น้องขาดทุนเท่าไร ผมจ่ายเงินให้ก้อนหนึ่งไปแบ่งกัน แล้วพวกต่อที่ 3 ต่อที่ 4 ที่บอกต่อๆกัน เจ๊งหุ้นกันเป็นแถบๆ อย่างนี้เราเสียชื่อเสียง มันไม่คุ้มหรอก..เชื่อผมซิ!!!"
ตอนที่ 25 มองต่างมุม "แวลู อินเวสเตอร์"
วิธีการลงทุนแบบ "แวลู อินเวสเตอร์" ส่วนตัวมองว่า "มันเสี่ยง" บางทีหุ้นลงก็ต้องถือ เพราะคุณคิดว่าพื้นฐานมันไม่เปลี่ยน เดี๋ยวมันก็ต้องกลับมา แต่เมื่อไรล่ะ...ถ้าคุณไม่ Cut Loss ตอนหุ้นลง "มันเสียโอกาส" วิธีการลงทุนโดยการถือหุ้นอยู่ในพอร์ต "ตลอดเวลา" ในมุมมองของ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ มีความเชื่อส่วนตัวว่า "มันเสี่ยงเกินไป" ด้วยความเชื่อที่ว่า ตลาดหุ้นนั้นมี "ฤดูกาล" (มีรอบ)ของมัน บางปีอาจจะมีรอบให้เล่น "หลายรอบ" บางปีตลาดหุ้นอาจจะมีรอบใหญ่ๆเพียงรอบเดียว แต่ตลาดหุ้นไม่เคยขาดโอกาสให้ซื้อเลย...แต่ต้อง "รอ" เพราะฉะนั้นอย่ากลัว "ตกรถไฟ" หรือกลัวจะ "ซื้อหุ้นดี" (ราคาเหมาะสม) ไม่ได้ "ให้ผมวิจารณ์วิธีการลงทุนแบบ "แวลู อินเวสเตอร์" (Value Investor) ส่วนตัวมองว่า "มันเสี่ยง" นะ! ถ้าพลาดทีเดียวจะเสียหายได้เยอะ บางทีหุ้นลงก็ต้องถือ เพราะคุณคิดว่าพื้นฐานมันไม่เปลี่ยน เดี๋ยวมันก็ต้องกลับมา แต่เมื่อไรล่ะ...ถ้าคุณไม่ Cut Loss ตอนหุ้นลง มันเสียโอกาส" เสี่ยยักษ์ เปรียบเทียบให้ฟังว่า อย่างพอร์ตผมมี 1,000 ล้านบาท ช่วงไหนเห็นท่าว่าตลาดไม่ดี ผมก็ลดพอร์ตลงมาเลย เหลือ 100 ล้านบาท "หุ้นตก...ผมยิ้มได้" เพราะผมคิดว่ายอมขาดทุนถือเงินสดเอาไว้ดีที่สุด เรามีโอกาสแก้ตัว แต่กับอีกคนๆหนึ่งที่เล่นหุ้นสไตล์ "แวลู อินเวสเตอร์" ถือหุ้นอยู่ 1,000 ล้านบาท "เต็มพอร์ต" วันไหนที่ตลาดหุ้นเกิด "แพนิค" (ตื่นตระหนก) วันเดียว เงินคุณหายไปเท่าไร "...อย่าคิดว่า คนที่เป็น "แวลู อินเวสเตอร์" จะไม่กู้ทุกคน หลายคนก็เล่นเครดิตบาลานซ์ ถ้าคุณมีพอร์ต 100 ล้านบาท มองตลาดดีมาก คุณกู้อีก 100 ล้านบาทรวมเป็น 200 ล้านบาท ซื้อเต็มพอร์ต วันไหนที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หุ้นตกลงมาเยอะๆคุณเจ๊งเลยนะ เพราะคุณจะไม่กล้าขาย คิดว่าพื้นฐานหุ้นมันไม่เปลี่ยน คนที่ถือหุ้นเยอะๆเวลาจะขายทีไม่ใช่ง่าย ตรงนี้คือ "ความเสี่ยง" ที่หลายคนไม่ได้มอง"
เสี่ยยักษ์ ออกตัวว่าไม่ใช่ว่าวิธีการลงทุนแบบ "แวลู อินเวสเตอร์" จะไม่ดี คนที่สำเร็จกับวิธีนี้ก็มีเยอะ เพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นจุดอ่อนบางมุม ยกตัวอย่างนะ...ในช่วงที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ ตกมากๆ อย่าคิดว่า แวลู อินเวสเตอร์ จะกล้าซื้อทุกคน คนที่ใส่ไปหมดหน้าตักแล้ว อยากซื้อก็ไม่มีตังค์จะซื้อ ส่วนกรณีของ แวลู อินเวสเตอร์ ที่อยากจะขาย คุณไปซื้อหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำเอาไว้เต็มพอร์ต ถ้าคุณขาย คุณก็เจ็บหนัก นี่ผมพูดจากประสบการณ์ในชีวิตจริงให้ฟัง ยิ่งคุณขาย...หุ้นยิ่งลงหนัก ตรงข้ามกับผม ตลาดหุ้นช่วงไหนเล่นแล้วไม่สบายใจ (รู้สึกว่าทำกำไรยาก) ผมล้างพอร์ตจาก 100% ลงมาเหลือ 10% ทันที "ถามว่า...เวลาหุ้นตกหนักๆใครมีเงินซื้อ ?? คุณหรือ ผม" เสี่ยยักษ์ ถามกลับ
เสี่ยยักษ์ยกตัวอย่าง "กรณี 9/11" (เครื่องบินผู้ก่อการร้ายพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544) นั่นคือ เหตุการณ์ไม่คาดฝัน มันนอกเหนือกฎเกณฑ์ วันนั้นขาดทุนทันที 26% คนที่กำลังจะ "เกิด" (กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว) ไปเจอเหตุการณ์อย่างงั้น ไม่รู้จะเกิดยังไง "จำเอาไว้...ในภาวะที่ตลาดหุ้นเป็น "ขาลง" หรือภาวะตลาดตื่นตระหนก คนที่มีพอร์ต 100% จะเสียเปรียบและเสียโอกาสมาก เพราะว่าคุณจะไม่มีเงินซื้อ ได้แต่รอ ได้แต่นั่งดูคนอื่น ในท้ายที่สุด เชื่อเถอะว่า คนที่ถือหุ้นเต็มพอร์ต ช่วงที่ตลาดหุ้นไม่ดี คุณนั่นแหละคือคนที่ขายหนีตาย (ขายหลังผมและขาดทุนมากกว่าผม)"
เสี่ยยักษ์ สรุปประเด็นนี้ว่า หลักการเล่นหุ้นที่ปลอดภัย คุณไม่จำเป็นต้องถือหุ้นไว้ (เต็มพอร์ต) ตลอดเวลา ช่วงไหนที่ตลาดหุ้นไม่ดี เล่นหุ้นแล้วไม่สบายใจ รู้สึกอึดอัด ต้องลดพอร์ตแล้วถือเงินสดให้มากที่สุด...นี่คือหลักการที่ถูกต้อง ในช่วง 10 ปีมานี้ (2540-2550) คนที่เล่นหุ้นเป็นรอบ บางคนพอร์ตโตขึ้นมามากกว่า 100 เท่า นักเล่นหุ้นรายใหญ่ๆที่รู้จักหลายคนออกสตาร์ทด้วยเงินน้อยๆ เขาก็ประสบความสำเร็จได้ อย่าง น.พ.วิเศษ วชิรพงศ์ (ขุนศึกคู่กาย) เขาเริ่มต้นจากศูนย์ ในอนาคตก็ต้องมีเงินเป็นร้อยล้านแน่ "พูดกันตรงๆว่า ช่วงไหนที่ตลาดหุ้นไม่ดี พอร์ตเราต้องเหลือหุ้นให้น้อยไว้ก่อน ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้น(เต็มพอร์ต)ช่วงที่ตลาดไม่ดี เปรียบเทียบให้เห็นชัดๆเหมือน ลิงแก้แห...ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง" เสี่ยยักษ์ กล่าวปิดท้าย
ตอนที่ 26 ตลาดหุ้น "ไซด์เวย์"
ลักษณะตลาดหุ้นที่แกว่งตัวออกด้านข้างและไม่มีข่าวดีอะไรใหม่ๆเข้ามาในตลาด คนที่เล่นหุ้นแล้วได้ตังค์ต้อง "เล่นรอบ" คือเล่นหุ้นแบบ "ปิงปอง" จะได้เปรียบ แต่อย่าไปทุ่มเทอะไรกับมันมาก "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า สมัยก่อนชอบเล่น "หุ้นตัวเล็ก" (หุ้นเก็งกำไร) ช่วงดัชนี SET ประมาณ 300-400 จุด ตอนนั้นยังเล่นหุ้น "ไซส์เล็ก" กันอยู่ โดยยอมรับว่าที่รวยหุ้นส่วนหนึ่งรวยมาจากหุ้นเก็งกำไร ช่วงดัชนีต่ำๆช่วงนั้นนิยมเล่นหุ้นที่เขาเรียกว่า "Penny Share" หรือ "หุ้นถูกๆ" กัน แต่พอเล่นมาถึงจุดๆหนึ่ง มันเริ่มแรงเกินไป "ผมคิดว่าถึงเวลาถอยแล้ว คล้ายๆกับช่วงที่ตลาดหุ้นทรงๆ (ไซด์เวย์) หุ้นตัวเล็กก็จะถูกดึงขึ้นมาเล่นรอบ ลักษณะตลาดที่ซึมๆทรงๆ หุ้นขึ้นทุกครั้ง ตัวเล็กก็จะนำหน้ามาก่อน มักจะเป็นอย่างนี้" โดยธรรมชาติของตลาดหุ้น "ไซด์เวย์" ที่แกว่งตัวออกด้านข้าง เสี่ยยักษ์อธิบายว่า ดัชนีจะไม่ไปไหนไกล สังเกตว่าจะไม่มีข่าวดีอะไรใหม่ๆเข้ามาในตลาด ลักษณะของตลาดอย่างนี้คนที่เล่นหุ้นแล้วได้ตังค์ ต้อง "เล่นรอบ" คือเล่นหุ้นแบบ "ปิงปอง" จะได้เปรียบ แต่อย่าไปทุ่มเทอะไรกับมันมาก ให้เล่นเกาะกระแสเอาไว้
ส่วนเทคนิคที่เสี่ยยักษ์นำมาใช้ในการอ่านทิศทางตลาด เพื่อค้นหา "จังหวะ" เข้าไป "เล่นรอบ" (สั้นๆ) เขายกตัวอย่างปฏิบัติการจริงให้เห็นว่า ก่อนอื่นเราต้องอ่าน "ภาพรวม" ของตลาดให้ออก จากนั้นก็มาเช็คเครื่องมือทางเทคนิคตัวอื่นๆประกอบ (จะดูกราฟ Month) มาดูตัว RSI ว่ากลับมารึยัง! แล้วมาดู Fast Stochastic ตัวนี้เร็วขึ้นหน่อย พอเห็นว่าเริ่มตัดขึ้นแล้วนะ แล้วต้องมาตรวจดู Slow Stochastic ว่าเป็นอย่างไร (ตามกันมารึเปล่า) อีกตัวที่ต้องดู Modified Stochastic เริ่มตัดขึ้น แสดงว่าสัญญาณต่างๆเริ่มดี แต่ว่ายังต้องรอตัว Fast Stochastic (กราฟ Month) จะนำตัวอื่น เราต้องรอให้มันเกิด Divergence (Bullish Divergence สร้างจุดต่ำยกสูง) ขณะที่ SET ปรับลงมา แต่ตัวนี้มันเริ่มตัดขึ้น แล้วก็ยกสูง(ชัน)ขึ้น อย่างนี้เราก็ต้องรอ แสดงว่าหุ้นใกล้มาแล้ว "ผมก็ดูอย่างนี้ จะมีรอบสั้นๆให้เล่นได้ ตรงนี้เก็บไว้ใช้เป็นวิชาได้" แต่ในกรณีที่ "ภาพใหญ่" ของตลาดแกว่งตัวออกด้านข้าง (ภาพใหญ่ของ SET เกิดไซด์เวย์ เช่นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2547-ต้นปี 2550) เสี่ยยักษ์ชี้ให้เห็นว่า ลักษณะของดัชนีไม่ได้เป็นแนวโน้มขาลง แต่เครื่องมือเครื่องไม้ทางเทคนิคอย่างตัว MACD (กราฟ Month) มันตัดลงมาตลอด อย่างนี้ถือเป็น "จุดดี" รอให้มันตัดขึ้นมาเมื่อไหร่ ทุกคนจะ "วิ่งใส่หุ้น" กันหมด
เสี่ยยักษ์ยังกล่าวถึงคนเล่นหุ้นที่มีเงิน 100 ล้านบาทกับนักเล่นหุ้นประจำมีเงิน 10 ล้านบาทว่า จริงๆแล้วคนมีเงิน 100 ล้านบาท "ไม่ได้เปรียบ" เพราะถ้าคุณไม่ได้ฝึกฝนตัวเองมา จะมีลักษณะซื้อเป็น แต่ "ขายขาดทุนไม่เป็น" มันเสียดายเงิน ขาดทุนคุณก็เก็บไว้ จากขาดทุนน้อยก็กลายเป็นขาดทุนมาก ยกตัวอย่างคนมีเงิน 100 ล้านบาท การที่คุณจะ Cut Loss ยอมขาดทุน 2-3 ล้านบาท มันน่าจะง่ายกว่าคนที่เล่นหุ้นประจำมีเงิน 10 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริง "ไม่ใช่" คนเล่นหุ้นที่เกาะติดตลาดทุกวัน เขาค่อยๆฝึกหัวใจ (ความกล้า)ไปเรื่อยๆ วันที่จะต้องยอมขาดทุน เขากล้ากว่าคนที่มีเงินเยอะ เพราะฉะนั้น คนที่ฝึกมาตั้งแต่เงินน้อยๆจะมีประสบการณ์มากกว่าพวกที่เอาเงินก้อนใหญ่มาเล่นเลย ภาษามวยเขาบอกว่า เบอร์ของหัวใจมันใหญ่ผิดกัน เคยซื้อโอเลี้ยงมาก่อน อยู่ข้างเวทีมาก่อน เขาจะมีความเคี่ยวมากกว่า ดังนั้นคนที่มีเงินน้อย อย่าคิดว่าตัวเองเสียเปรียบ
นอกจากนี้ เสี่ยยักษ์ยังกล่าวถึงเทคนิคการเล่นหุ้น "Penny Share" หรือ "หุ้นถูกๆ" ว่า ที่จริงแล้วรายย่อยได้เปรียบเยอะเลย..ถ้ารู้จักวิธีเล่น "ถ้าผมเป็นรายย่อย ผมวางแผนจะ "ขี่" รายใหญ่ (เจ้ามือ) "ธง" ของเราคือ อย่าไปหวังเล่นรวย คนที่คิดเล่นทีหวังจะเอากำไรเยอะๆสุดท้าย "ตายทุกราย" เชื่อผม !!! คุณต้องเกาะเขาไป ยกตัวอย่าง ถ้าจะเล่นหุ้น TYONG เล่นหุ้น BLAND เจ้ามือเสือมาก "อย่าไปใหญ่กว่าเจ้ามือ" สมมติ ผมเทรด BLAND-W1 อยู่ช่วงราคา 0.19-0.20 บาท ถ้าคุณไปกิน 0.21 บาท กะลากราคาขึ้นไป เจ้ามือเขาเลิกเลยนะ อย่างเมื่อเช้า (ขณะที่สัมภาษณ์) BLAND-W1 มีคนรวบราคา 0.21 บาทไป เจ้ามือมันเลิกเล่นเลย ถ้าเขากินเอง(ลากขึ้นไป) ไม่เป็นไร แต่ถ้าเราไปกินเขา "มันเลิก" พอเลิกเสร็จเขาจะบีบ (ทุบ) ให้คุณต้องคายหุ้นออกมาก่อน" ระหว่างที่เสี่ยยักษ์กำลังเทรดหุ้น BLAND-W1 ก็เล่าไปด้วยว่า "หุ้นถูกๆ" เขาจะเล่นกันไม่กี่ช่อง ตั้ง Bid กับ Offer เอาไว้ 2 ข้าง อย่าง BLAND-W1 ช่วงเช้าขายไป 0.21 บาท ช่วงบ่ายที่ตลาดกำลังจะ "รันเปิด" ถ้าซื้อคืนได้ที่ 0.20 บาท ก็หมายถึงว่า วันนี้คุณขายไป 0.21 บาท ซื้อกลับ 0.20 บาท ได้กำไร 5% ทันที
"ช่วงที่ตลาดกำลังจะเปิด เขาจะใช้วิธี "Random" (สุ่มจับคู่) ราคาไหนมากกว่ามันจะเปิดตรงนั้น ถ้าฝั่งซื้อ (Bid) มากกว่า 0.21 บาทมันก็จะเปิด 0.21 บาท นี่ฝั่งขาย (Offer) มีอยู่ 4.6 ล้านหุ้นกับ 5,000 หุ้น ฝั่งซื้อ (Bid) มีอยู่ 2.6 ล้านหุ้นกับ 9 แสนหุ้น เขารู้เวลาเปิด..เสร็จมัน!!! กลายเป็นว่าเราได้หุ้นที่ 0.21 บาทมา..หนีไม่ทัน" เสี่ยยักษ์เล่าเหตุการณ์แบบนาทีต่อนาที เกมนี้เท่ากับว่า "เราแพ้" "เล่นอย่างนี้ สนุกๆดวลกันทุกวัน ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ได้เสียไม่เยอะ แต่ผมชอบรอบใหญ่ๆ มากกว่า" เสี่ยยักษ์กล่าวปิดท้าย
ตอนที่ 27 ประสบการณ์ "SHIN-W1"
วอร์แรนท์ที่ราคาแปลงสภาพ "ต่ำกว่าหุ้นแม่" ยิ่งเหลืออายุน้อย เจ้ามือยิ่งกดรายย่อยให้ปล่อยหุ้นออกมา เพราะเขารู้ว่าไม่มีเงินไปแปลงสภาพแน่ เขาก็บีบซื้อราคาถูกเอาไปแปลงสภาพเอง "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เล่าประสบการณ์การเล่น "วอร์แรนท์" สมัยก่อน โดยยกตัวอย่างกรณีของ SHIN-W1 ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นกรณีศึกษา โดยระบุว่า "ก้อนแรก" ที่หุ้นตัวนี้ขึ้นมากลุ่มของเรา(กลุ่มเสี่ยยักษ์)เป็นคนเล่น...ช่วงนั้นเล่นกัน มันส์!มาก
"กลุ่มเราเล่น SHIN-W1 ขึ้นมาจาก 2-3 บาท (ช่วงไตรมาส 2 ปี 2546) เล่นขึ้นไป 7-8 บาท ใช้เวลาเล่นแค่เดือนเดียว พอกลุ่มเราขายหมด ปู่ (เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล) มาเห็นดี ทุบพอร์ตมาซื้อ 30 ล้านหุ้น มารับแถวๆ 7-8 บาท มันเหมือนพวกผมไปทุบหุ้นใส่เขา ที่จริงเราไม่ได้นัดกัน แต่เห็นราคาขึ้นมาเยอะ กำไรเป็นเท่าตัวแล้วก็ขาย เพราะมันไม่ใช่หุ้นในดวงใจ ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม" ช่วงที่ราคา SHIN-W1 ขึ้นมาประมาณ 100% แล้ว กลุ่มเสี่ยยักษ์ก็ขายทิ้งกันหมด มีเพียงเสี่ยปู่คนเดียวที่ไม่ยอมขาย ยังกอดไว้แน่น 30 ล้านหุ้น เพราะมองว่าอนาคตตัวนี้ต้องดีแน่ "ช่วงราคา 7-8 บาท (เจ้ามือ) มัน "กดราคา" แช่อยู่อย่างนั้น 4 เดือนเต็มๆ ไม่ยอมให้ขึ้น พอปู่ขายหมด มันลากขึ้นไป 24.80 บาท ใช้เวลาแค่ 2 เดือนกว่า (10 สัปดาห์) เท่านั้นเอง...วิ่งเหลือเชื่อ!!!"
(ข้อสังเกตมีอยู่ว่า ก่อนหน้าที่หุ้น SHIN-W1 จะวิ่งขึ้นรอบใหญ่จากช่วงราคา 7-8 บาทขึ้นไปทำจุดสูงสุดของรอบที่ 24.80 บาท หุ้นตัวนี้ถูก "กด" ไม่ให้ขึ้นนานถึง 17 สัปดาห์ ระหว่างที่หุ้นถูกกดไม่ให้ขึ้น มีจุดสังเกตคือ "วอลุ่มหาย" (วอลุ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง) ขณะที่ราคาหุ้นไม่ลง มีลักษณะ "ไซด์เวย์" ออกด้านข้าง อยู่ในกรอบ 6.25-10.30 บาท แต่โดยเฉลี่ยแล้ววิ่งอยู่ในกรอบ 7-8 บาท) เสี่ยยักษ์บอกว่า จากประสบการณ์ครั้งนั้นสรุปว่า ทุกคนเฉียดรวยกันหมด รายใหญ่เขากดดันให้คนที่เล่นหุ้นตัวนี้อึดอัดมาก (ยิ่งถือหุ้นมาก ยิ่งกดดัน) พอรวบรวมหุ้นได้มากพอก็ "ลากราคา" ขึ้นไปเลย นี่คือจังหวะชีวิตที่นักเล่นหุ้นทุกคนต้องเจอ
ส่วนสาเหตุว่า ทำไม! ถึงเลือกมาลงทุนวอร์แรนท์ตัวนี้ เสี่ยยักษ์ขยายความว่า เดิมทีหุ้นแม่ SHIN เคยอยู่ที่ 17 บาท ประมาณช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2545 ตัวลูก SHIN-W1 เข้ามาเทรดครั้งแรกอยู่แถว 4 บาทกว่า แล้วตัวแม่ SHIN ถูกกดลงมา 10 บาท (ตลอดช่วงไตรมาส 4 ปี 2545) แล้วมันกลับขึ้นไป 17 บาทอีกครั้งช่วงเดือนพฤษภาคม 2546 แต่ลูกมันยังอยู่แถว 2.7-2.8 บาท "แสดงว่าแม่มันไปแล้ว แต่ลูกยังไม่ไป พวกเราก็ "จับจุด" ตรงนี้ แล้วมาเล่นกันขึ้นไป 7-8 บาท รอบนั้นราคาแม่ SHIN อยู่ที่ 17 บาท ราคา SHIN-W1 อยู่แถว 2.7-2.8 บาท แปลงสภาพที่ราคา 20.50 บาท อีกจุดหนึ่งจำได้ว่า "คุณบุญคลี ปลั่งศิริ" อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น เขาเคยออกมาให้ข่าวว่า ตัว SHIN-W1 แปลงสภาพเป็นหุ้น SHIN ได้แน่ นี่ก็เป็นการ "ส่งสัญญาณ" ล่วงหน้า" ประเด็นเรื่องการส่งสัญญาณจาก "ผู้มีอำนาจ" (ในบริษัท) ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยต่อทิศทางการลงทุน เสี่ยยักษ์ยกตัวอย่างกรณีของหุ้น SCB-C1 ให้ฟัง หุ้นตัวนี้ "เจ๊ง" กันอื้อ สมัยก่อนเล่นเก็งกำไรกันทั้งกลุ่ม โดยเฉพาะเล่นเก็งข่าว "ต่ออายุวอร์แรนท์" ตอนนั้น "ดร.บัณฑิต นิจถาวร" (จากแบงก์ชาติ) มาพูดว่าจะยืดอายุ แต่ "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" (รมว.คลัง) บอกไม่ยืด เกมจบเลย เพราะทั้งพอร์ตเล่นกันแต่ตัวนี้
วอร์แรนท์อีกตัวหนึ่งที่ "เจ็บ" กันสมัยก่อน ก็ตัว BANPU-W ของ "ตระกูลว่องกุศลกิจ" เสี่ยยักษ์เล่าว่า เจ้าของรับไปคนเดียวหมด ประมาณปี 2541 (ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ) ราคาหุ้น BANPU อยู่แถว 13-14 บาท ราคา BANPU-W ช่วงที่ใกล้จะหมดอายุถูกทุบจาก 1.20 บาทลงมาเหลือ 0.20 บาท เจ้าของเก็บของดีไปหมด เอาไปแปลงสภาพที่ราคา 10 บาท "กำไรอื้อ" "เขาเก็บ BANPU-W ออกไปหมด...ไม่ปล่อยกลับมา แล้วทำให้วอร์แรนท์ที่เหลือ (ที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด) "ไม่มีค่า" สุดท้ายรายย่อยไม่มีเงินแปลงสภาพ ก็ต้องเท BANPU-W ราคาถูกให้เขาหมด ถ้าคุณไม่รีบขายวันนี้ พรุ่งนี้ตกอีก ถ้าถือไว้ก็ต้องหาเงินอีกหุ้นละ 10 บาทไปแปลงสภาพ ไม่มีใครมีเงิน ก็เหมือนกับ BAY-W1 เจ้าของเขาได้เปรียบ เขาขายแม่ (BAY) แล้วมาเก็บลูกไปแปลงสภาพที่ราคา 12 บาท เขามีหุ้นเท่าเดิม ได้กำไรส่วนเหลื่อมไปแบบไม่เสี่ยง ยิ่งเป็นขาขึ้น...ยิ่งกำไร (ที่ผ่านมาต้นทุนแปลงสภาพ 12 บาท + ราคา BAY-W1 ยังต่ำกว่าราคาแม่ BAY)" เสี่ยยักษ์ให้ข้อสังเกตว่า วอร์แรนท์ที่ราคาแปลงสภาพ "ต่ำกว่าหุ้นแม่" ยิ่งเหลืออายุน้อย เจ้ามือยิ่งกดรายย่อยให้ปล่อยหุ้นออกมา เพราะเขารู้ว่าไม่มีเงินไปแปลงสภาพแน่ เขาก็บีบซื้อราคาถูกเอาไปแปลงสภาพเอง
บทอวสาน "สุดยอด...วิชัย วชิรพงศ์"
การนำเสนอ Story ชีวิตและความสำเร็จของ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ก็เดินทางมาถึง "ปลายทาง" ตามวาระแห่งความพอดี (ฉบับสุดท้าย วันที่ 19 ตุลาคม 2550 วันครบรอบ 20 ปีเต็มของเหตุการณ์ Black Monday) ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา รวมทั้งสิ้น 27 ตอนกับอีก 1 บทสรุปของ "สุดยอดวิชา" ความเป็น "สุดยอด" ของนักเล่นหุ้นธรรมดาๆคนหนึ่ง ที่ลงทุนจากเงินทุน 2 ล้านบาท แล้วประสบความสำเร็จจนมีเงินนับ "พันล้านบาท" จาก "ต้นกล้า" ฝ่าแดด...ต้านฝน จนเป็น "ไม้ใหญ่" ขอคารวะด้วยจิตศรัทธาว่า "ไม่ธรรมดา" ก่อนจากลา "ถนนนักลงทุน" ขอรวบรวมคำพูดและวลีเด็ดๆจากกูรูหุ้นระดับประเทศท่านนี้ ถ่ายทอดเป็น "ยอดวิชา" หวังให้ไป "ผลิบาน" ในความคิดของนักลงทุน เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ สืบสานสร้างความมั่งคั่งเรื่อยไป ตั้งแต่ตอนที่ 1 ถึง ตอนที่ 27 มีวลีเด็ดๆ ที่น่าสนใจดังนี้
# ตอนที่ 1 เงินนี่มันแปลก เงิน 1 ล้านบาทคุณจะเพิ่มให้เป็น 2 ล้านบาท ช่วงนี้จะยากมาก แต่จาก 2 เพิ่มเป็น 4 เริ่มง่าย จาก 4 เพิ่มเป็น 8 ยิ่งง่ายกว่า...นี่เรื่องจริง
# ตอนที่ 2 ถ้าในโลกนี้ ใครได้อะไรมาง่ายๆก็ยากที่จะรักษาให้มันอยู่กับเราได้อย่างยั่งยืน
# ตอนที่ 3 หุ้นจะเป็นขาขึ้น "ราคา" และ "ปริมาณ" จะต้องเคลื่อนไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
# ตอนที่ 4 ถ้าเราเลือกหุ้นพี/อี ต่ำ พื้นฐานดี แต่ซื้อแล้วราคาไม่ขึ้น...มีแต่ลง แสดงว่าความคิดของเรา "ผิด" คุณต้องเปลี่ยน "อย่าดันทุรัง"
# ตอนที่ 5 สมัยที่ยังเล่นหุ้นไม่เก่ง วิธีที่ผมใช้...จะลอกข้อสอบคนเก่ง แต่ระหว่างที่เราลอกข้อสอบเขา เราก็ต้องพัฒนาตัวเองตามให้ทัน
# ตอนที่ 6 ในการเล่นหุ้นให้ชนะตลาด เราต้องพายเรือตามน้ำ อย่าพายเรือทวนน้ำ เพราะการ "ฝืนกระแส" จะทำให้เรา "เสี่ยงสูง" ที่จะขาดทุน
# ตอนที่ 7 จากประสบการณ์ 20 ปี จะซื้อหุ้นให้ได้กำไร เราต้องกล้าไปจ่ายตลาด "ตอนประมาณ ตี 5" หรือ อีก 1 ชั่วโมงฟ้าจะสว่าง...ผีไม่มี
# ตอนที่ 8 วิธีการเอาตัวรอดในช่วงที่ต้องเผชิญกับ "วิกฤตการณ์" ทางเดียวที่จะทำให้เรา "รอด" คือ การตัดนิ้ว (Cut Loss) ยอมขาดทุนรักษาชีวิต
# ตอนที่ 9 ความลับของเงินจะเติบโตก็เฉพาะกับคนที่รู้จักใช้มัน เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม
# ตอนที่ 10 การเล่นหุ้นเพื่อหวังกำไร 3-5% เป็นการลงทุนที่มีโอกาส "ร่ำรวย" ได้ยาก!!! เพราะการตัดสินใจซื้อ-ขายบ่อย โอกาสผิดพลาดจะสูง
# ตอนที่ 11 คำศัพท์ของนักเล่นหุ้น เขาบอกว่า "ลูกยังเล็กอยู่" เราจะพลาดไม่ได้ หมายความว่าหุ้นตัวนี้ "อันตราย" เราต้อง Cut Loss ทิ้ง
# ตอนที่ 12 ในจังหวะที่หุ้นเป็นขาขึ้น เราต้อง Let the Profit Run ปล่อยให้กำไรวิ่งเต็มสตีม เมื่อไรที่ราคาเริ่มปรับฐานลงมาพร้อมวอลุ่มเราต้องรีบล้างพอร์ตออกไป
# ตอนที่ 13 ท่องเอาไว้เลย "วอลุ่มพีค" คือ "ราคาพีค" และถ้าหุ้นปรับฐานแล้ว "รีบาวด์" แต่ไม่ทำ "นิวไฮ" ใหม่..."มันต้องลง"
# ตอนที่ 14 ถ้าหุ้นเป็น "ขาลง" แล้ว "วอลุ่มหาย" นี่เป็นตามธรรมชาติ แต่ถ้าหุ้นเป็น "ขาขึ้น" แล้ว "วอลุ่มหาย" นี่มันผิดกฎธรรมชาติ ให้สงสัยไว้ก่อนว่า "มันกำลังจะวิ่ง"
# ตอนที่ 15 นิสัยผมถ้าอะไรที่ไม่แน่ใจเต็มร้อย ผมจะเข้าไปลงทุนด้วยเงินก้อนน้อยๆก่อน ยิ่งถ้าเป็นหุ้นเก็งกำไร จะเล่นเป็นรอบ จะไม่ทุ่มสุดตัว และไม่ถือยาว
# ตอนที่ 16 คำว่า "ข่าวลือ" คุณต้องแอบพูดในที่ "ลับ" ถ้ามากระจายให้มหาชนรับรู้...มาบอกนักข่าว แสดงว่า "จบรอบ" แล้ว...คุณต้องทิ้ง
# ตอนที่ 17 ถ้าจะเล่น "หุ้นปั่น" เราต้องซื้อน้อยๆ เกาะตู้เย็น หาค่ากับข้าวได้ แต่อย่าไปเล่นแรง อย่าไปทุ่ม เดี๋ยวเจ้ามือมันจะโยนหุ้นใส่เรา
# ตอนที่ 18 กรณีที่หุ้นจะปรับตัว "ลงแรง" วอลุ่มมักจะทำ "พีค" ก่อน ให้สังเกตว่ารายย่อยจะแห่เข้าใส่แบบไม่ลืมหูลืมตา เวลาที่หุ้นปรับตัวมันจะ "ลงลึก"
# ตอนที่ 19 ในช่วงของการสะสมหุ้น ถ้าเป็น "หุ้นดี" ให้สังเกตฝั่ง Bid จะน้อย แต่ฝั่ง Offer จะเยอะ ภาวะอย่างนี้คือช่วงที่ดัชนี SET ประมาณ ตี 4 ตี 5 คนยังเล่นหุ้นไม่เต็มตัว เขาจะรอรับ แต่ไม่ไล่ราคา
# ตอนที่ 20 "เฮียประธาน" เขาเป็นเจ้าของคอร์ทแบดมินตัน อยู่แถวถนนบางรัก ฉายาเขาคือ "พญาอินทรี" ถ้าวันไหนที่พวกเรา "เละ" หรือ "เจ๊ง" กันหมด เขาจะบินมาเลย...เขาจะมาซื้อหุ้น
# ตอนที่ 21 การอ่านอารมณ์ตลาด ถ้า "รายย่อย" สงบเสงี่ยมเจียมตัว "ฝรั่ง" ไม่เข้า บอกได้เลยว่า เล่นหุ้นไม่ได้ตังค์ ถ้าจะเล่นหุ้นได้กำไร รายย่อยต้องมีจุดมั่นใจ นักเก็งกำไรแห่กันเข้ามาเล่นตามน้ำ ตลาดแบบนี้ "ได้ตังค์"
# ตอนที่ 22 ถ้าเราเทรดหุ้นทุกวัน สมองมันไม่มีจุดคิด การตัดสินใจบ่อยมันพลาดได้ง่าย คุณต้องรอจังหวะ รอให้เครื่องมือทางเทคนิคยืนยัน แล้วทุกคนเริ่มกลัวกันหมด ตรงนั้นคือจุดที่ปลอดภัยที่สุด ซื้อเสร็จก็ใส่ปี๊บเอาไว้
# ตอนที่ 23 ถ้าคิดจะ "สร้างราคาหุ้น" แล้วไม่ให้วงแตก มือทำหุ้นที่เป็นมืออาชีพ เขาจะบอกเจ้าของหุ้นว่า คุณต้องโอนหุ้นมาให้ก่อน แล้วต้องเอาเงินมาให้ด้วย...ล้านเปอร์เซ็นต์เลย ถึงจะสำเร็จ !!!
# ตอนที่ 24 พูดตรงๆผมเคยเล่นหุ้นปั่น วันที่ผมขายหมด บางคนไม่ได้ขาย ผมเสียเพื่อนไปก็หลายคน เสียน้องไปก็หลายคน สุดท้ายมันไม่ได้อะไรขึ้นมา มันไม่คุ้มหรอก...เชื่อผมสิ!!!
# ตอนที่ 25 วิธีการลงทุนแบบ "แวลู อินเวสเตอร์" ส่วนตัวมองว่า "มันเสี่ยง" บางทีหุ้นลงก็ต้องถือ เพราะคุณคิดว่าพื้นฐานมันไม่เปลี่ยน เดี๋ยวมันก็ต้องกลับมา แต่เมื่อไรล่ะ!! ถ้าคุณไม่ Cut Loss ตอนหุ้นลง มันเสียโอกาส
# ตอนที่ 26 ลักษณะตลาดหุ้นที่แกว่งตัวออกด้านข้างและไม่มีข่าวดีอะไรใหม่ๆเข้ามาในตลาด คนที่เล่นหุ้นแล้วได้ตังค์ ต้อง "เล่นรอบ" คือ เล่นหุ้นแบบ "ปิงปอง" จะได้เปรียบ แต่อย่าไปทุ่มเทอะไรกับมันมาก
# ตอนที่ 27 วอร์แรนท์ที่ราคาแปลงสภาพ "ต่ำกว่าหุ้นแม่" ยิ่งเหลืออายุน้อย เจ้ามือยิ่งกดรายย่อยให้ปล่อยหุ้นออกมา เพราะเขารู้ว่าไม่มีเงินไปแปลงสภาพแน่ เขาก็บีบซื้อราคาถูกเอาไปแปลงสภาพเอง
นอกจากนี้ "เสี่ยยักษ์" ยังมีเคล็ดไม่ลับ ที่อยากฝากแฟนๆ "ถนนนักลงทุน" อีก 5 ข้อ "คำพูดที่ผมอยากจะฝากไว้ จำเอาไว้เลยนะ..."
1. อย่าตามหลังมวลชน
2. จุดที่มั่นใจที่สุด คือ จุดที่อันตรายที่สุด
3. จุดที่อันตรายที่สุด คือ จุดที่ปลอดภัยที่สุด นั่นคือ ประมาณ "ตี 5" ถึง "ตี 5 ครึ่ง" (ก่อนฟ้าสาง)
4. อย่าคิดคนเดียว อย่าตอบคำถามคนเดียว อย่าเล่นหุ้นคนเดียว และ
5. คนเล่นหุ้นให้ชนะ ต้องเลิกนิสัย "ถามเอง-ตอบเอง-เออเอง" สุดท้าย "เจ๊งลูกเดียว"
Credit:http: http://www.rockontheset.com/plan/lesson3.html
Promote website
Promote Rebate Forex
ประกาศ
ประกาศ:
-เมื่อท่านสมัครเปิดบัญชีและโอนเงินเข้าแล้ว ให้ขอโบนัสจากโบรกเกอร์ และสามารถฝากเงินลงทุนพร้อมโบนัสเข้าลงทุนได้เลย
-รับลงทุนขั้นต่ำ 10$ ระยะเวลาลงทุนอย่างน้อย 30 วัน ถ้าถอนออกมาก่อนจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 10%
-เมื่อท่านสมัครเปิดบัญชีและโอนเงินเข้าแล้ว ให้ขอโบนัสจากโบรกเกอร์ และสามารถฝากเงินลงทุนพร้อมโบนัสเข้าลงทุนได้เลย
-รับลงทุนขั้นต่ำ 10$ ระยะเวลาลงทุนอย่างน้อย 30 วัน ถ้าถอนออกมาก่อนจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 10%